article [last update 02-06-06]

คุณรู้จัก ยางสำหรับออฟโรดแค่ไหน

โครงสร้างของยาง
ทุกวันนี้ยางรถยนต์ล้วนแล้วแต่ใช้ยางเรเดียลเสริมโครงสร้างด้วยใยเหล็กกันหมดแล้ว แต่ถ้าเป็นนักเลงออฟโรดรุ่นเก๋าที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับการใช้งานเจ้าตัวลุยคันเก่งอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อาจคุ้นเคยกับยางโครงสร้างผ้าใบประเภท ไบอัส-พลาย (bias-ply) ที่เคยขึ้นชื่อเรื่องความทนทาน

แต่สมัยนี้แม้จะค้นจนทั่วย่านวงเวียน 22 ก็ยากจะหายางชนิดนี้ที่ไม่ใช่เก่าเก็บได้ยากเหลือเกิน ยกเว้นยางสำหรับรถบรรทุก 10 ล้อ ที่ยังพอเห็นได้บ้าง เพราะการออกแบบให้โครงสร้างผ้าใบของยางวางทำมุมเฉียงกับหน้ายางนั้น มีคุณสมบัติในเรื่องการรับน้ำหนักได้มาก แต่ข้อเสียก็คือไม่เกาะถนนและเมื่อวิ่งต่อเนื่องเป็นระยะทางยาวๆ จะเกิดความร้อนสะสม จนมีอาการหน้ายางล่อนออกมา หรือยางระเบิดอย่างที่เราเคยได้ยินกัน
ยางเรเดียลออกสู่ตลาดช่วงปี 1949 แต่มาได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายในช่วงทศวรรษที่ 70 โครงสร้างยางเรเดียลจะใช้การวางชั้นผ้าใบและใยเหล็กตามแนวของหน้ายาง ทำให้แก้มยางให้ตัวได้มากขึ้น จึงเกาะถนนในทางโค้งได้ดีขึ้น นุ่มนวลในการขับขี่มากขึ้น และด้วยการใช้เข็มขัดรัดหน้ายาง ซึ่งมีส่วนควบคุมโครงสร้างยางทำให้ดอกยางสัมผัสกับพื้นมากขึ้นทุกสภาพการใช้งาน จึงทำให้ยางเรเดียลใช้งานได้อย่างเต็มที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทนความร้อนได้มากขึ้น จนใช้ความเร็วสูงได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องเสี่ยงกับอาการ “ยางระเบิด” อย่างที่เคยได้ยินกัน

ผมเชื่อเสมอว่าหากยางเรเดียลอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ลมยางที่เราใช้อยู่ทั่วไปที่ดึงจากอากาศรอบตัวเรา อันมีไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบหลักอยู่กว่า 80% ก็เพียงพอแล้ว การเพิ่มไนโตรเจนเข้าไปอีก 10% กว่าๆ ไม่มีผลอย่างไรต่อสภาพการใช้งานของยางจนผู้ขับสามารถรับรู้ได้ นอกจากนี้ผมยังไม่เคยพบหรือได้ข่าวรถยนต์ที่ใช้ยางเรเดียลสภาพสมบูรณ์ ตามข้อกำหนดของสมรรถนะการบรรทุก และความเร็ว เกิดยางระเบิดมาก่อน โดยมากเหตุที่เกิดอาการเหล่านี้มักเกิดจากการบรรทุกเกินพิกัด และการใช้ความเร็วเกินสมรรถนะของยางอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญยังไม่มีผู้ผลิตยางรถยนต์บริษัทใดออกมายืนยันว่า ยางของตนต้องใช้ลมยางไนโตรเจนเท่านั้น จึงจะมีสมรรถนะสูงสุดตามสเปค

หน้าที่ของยาง
ยางรถยนต์น่าจะเป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่หนักที่สุดของรถยนต์ และยังทำหน้าที่เป็นส่วนสำคัญในการถ่ายทอดผลจากเทคโนโลยีล้ำสมัยทั้งหลายลงสู่พื้นผิวถนน ซึ่งมีทั้งร้อน เปียก ขรุขระ กระแทกกระทั้น แหลมคม สารพัดรูปแบบ แถมยังต้องรับน้ำหนักอีกเป็นตัน และหากจะให้ยางแต่ละเส้นรับหน้าที่ได้เช่นนี้ทุกสภาพการใช้งาน เห็นที่จะเป็นได้แค่ฝันละครับ เพราะฉะนั้น จึงมีการกำหนดประเภทของยางเพื่อให้ได้สมรรถนะสูงสุด โดยเฉพาะยางสำหรับตัวลุยแล้วเห็นจะมีหลากหลายอยู่พอสมควร มาดูกันครับว่ายางแต่ละประเภทเหมาะกับการใช้งานแบบไหน

ยาง HT หรือ highway terrain เพราะเป็นยางที่ติดรถมาจากโรงงานมากที่สุด การใช้งานก็ตามชื่อที่บอกว่าใช้บนถนนธรรมดาเป็นหลัก และเหตุที่เป็นยางติดรถมาจากโรงงานก็เพราะเป็นยาง 4x4 ที่ให้สมรรถนะบนถนนหลวง เงียบ ประหยัดน้ำมัน และเกาะถนนได้ดีที่สุด
โครงสร้างของยาง H/t ไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่ายางเรเดียลทั่วไป จึงสามารถใช้งานในสภาพความเร็วสูงได้ดี เพราะโครงสร้างของยางเป็นแบบไม่มีความร้อนสะสมมากนัก แต่ไม่เหมาะกับการบรรทุกหนักมากๆ หรือเอาไปลุย เพราะดอกยางนอกจากจะไม่เหมาะแล้ว แก้มยางยังอาจฉีกขากเสียหายจากหินแหลมคม และรากไม้

ยาง AT หรือ all terrain ที่เจ้าของตัวลุยชอบเปลี่ยนใส่ เพราะดูแล้วเท่กับดอกยางที่โต หนา หยาบ ขึ้นอีกนิด บางรายว่าใส่แล้วค่อยดูเป็นลูกผู้ชายตัวจริงขึ้นอีกนิด ถ้าจะว่ากันตามสูตรจริงจังแล้ว รถจะเหมาะสมกับยางประเภทนี้ก็ต่อเมื่อต้องใช้ตัวลุยคันเก่งบนทางออฟโรดประมาณ 20% ของเส้นทางในแต่ละวัน แต่ด้วยเหตุผลที่ว่ามาข้างต้น แต่ไม่ต้องใช้งาน 20% ที่ว่า และเผื่อว่าจะออกไปเที่ยวป่าเที่ยวเขาบ้าง ผมจึงเป็นอีกหนึ่งในกลุ่มผู้ใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่หันมาใช้ยางประเภทนี้
จริงๆ แล้วหากใช้ยางนแบบนี้ แล้วออกทริปใหญ่ๆ สักครั้งก็ถือว่าคุ้มค่าราคายางแล้ว เพราะโครงสร้างของยางชนิดนี้แข็งแรงกว่าแบบแรกมาก แถมยางก็เหมาะกับการลุยได้พอตัว ใช้งานบนถนนหลวงก็ยังดูไม่น่าเกลียด หรือมีเสียงดังรบกวนน่ารำคาญมากนัก จึงได้รับความนิยมสูงสุด ส่งผลให้มีการผลิตยางออกมาให้เลือกมากรุ่น แต่ว่าก็มีความแตกต่างกันในแต่ละรุ่น เช่น หน้ายาง ดอกยาง จำนวนชั้นผ้าใบและใยเหล็กไม่เท่ากัน ซึ่งหากจำนวนชั้นมากขึ้นก็ทำให้สมรรถนะการลุยและความทนทานเพิ่มขึ้น พร้อมกับน้ำหนักยางที่มากขึ้น แต่ก็สวนทางกับความนุ่มนวลที่จะลดลง พร้อมกับสมรรถนะในการใช้งานด้วยความเร็วสูงก็ลดลงตามความแข็งแรงของยางด้วย

ยาง MT หรือ mud terrain มีดอกโตเป็นบั้งใหญ่ โครงสร้างแข็งแกร่งกว่ายางทั้ง 2 ชนิด อีกทั้งความหนาของแก้มยาง และดอกยางก็จะมากกว่า เพื่อความทนทานในการจิก ตะกุย พื้นผิวทาง แน่นอนความอ่อนนุ่มเป็นอันว่าไม่ต้องพูดถึงกัน การเกาะถนนบนทางหลวงก็หดหายไปอีก เพราะมันถูกออกแบบไว้ให้ใช้ในทางทุรกันดารเป็นหลัก และยิ่งดอกยางใหญ่มากขึ้นเท่าไหร่ เสียงรบกวนจากการบิดตัวของดอกยางเมื่อนำมาใช้บนทางหลวงก็ยิ่งดังมากขึ้นเท่านั้น

ตัวอักษร lt บนแก้มยางคืออะไร ?
เป็นการบอกประเภทของยางว่าเป็นยางแบบ lt หรือ light truck ที่เดี๋ยวนี้กระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ บางรุ่นใจถึงให้เป็นยางติดรถมาจากโรงงาน โดยปกติยางแบบนี้สามารถสูบลมได้อย่างน้อยถึง 60 ปอนด์/ตารางนิ้ว เพื่อรับกับน้ำหนักบรรทุก โครงสร้างของไลท์ทรัคจะแข็งแรงกว่าแบบ H/t แต่ความนุ่มนวลก็น้อยกว่าอีกเช่นกัน ใครที่ชอบขับแบบอัดเป็นระยะทางยาว ก็กรุณาสังเกตรหัสความเร็วบนแก้มยางด้วย มิเช่นอาจเกิดกรณีหน้ายางล่อนออกเป็นแผ่นได้
ถ้าใช้ยางแบบนี้อยู่จะรู้ได้อย่างไรว่าเติมลมได้พอดีแค่ไหน ฝรั่งเขามีหลักการกันง่ายๆ ว่า เมื่อคุณเติมลมในช่วงที่ยางยังเย็น แล้ววิ่งไปสัก 1 ชั่วโมงจนลมยางร้อนได้ที่ วัดแรงดันลมยางอีกที หากเพิ่มขึ้น 4 ปอนด์ ถือว่าใช้ได้ แต่หากเกินกว่านั้น หมายถึงเติมลมยางน้อยเกินไปจนแก้มยางให้ตัวมาก ทำให้เกิดความร้อนจนอากาศขยายตัวได้มาก ในทางกลับกัน หากลมยางเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 4 ปอนด์แสดงว่าเติมลมมากเกินไปครับ
ใครที่ใช้ลมยางไนโตรเจน ลองเทียบกับบางล้อที่ใช้ลมยางธรรมดาดูนะครับว่าแตกต่างกันแค่ไหน....

ล้อโต แฟชั่นฮิต
สมัยก่อน ตัวลุยล้อขนาด 15 นิ้ว ก็ถือกันว่าหรูสุดๆ กระทั่งไม่กี่ปีมานี้กระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ ก็ขยับขนาดกระทะล้อกันขึ้นถึง 16 นิ้ว แบบไม่เกรงใจสตางค์ในกระเป๋าลูกค้าตอนเปลี่ยนยางเส้นใหม่กันบ้าง แต่พอหันไปดูฝั่งพวกตัวลุยแบบ suv ทั้งหลาย ปรากฏว่า เริ่มกันที่ 17 นิ้วเป็นแบบเด็กๆ ส่วนใหญ่จะว่ากันที่ 18-20 นิ้วกันเสียแล้ว ยางส่วนใหญ่ที่ใช้กับล้อแบบนี้ก็เป็นยางสำหรับการใช้ความเร็วสูงบนทางหลวงเป็นหลัก สมรรถนะการยึดเกาะถนนและการเบรกจึงถือว่าเป็นเลิศ แต่ถ้าหากคิดเอาไปลุยก็ควรทำใจเสียก่อนว่าอาจไม่รอด

ทำความสะอาดยาง
จะเป็นยางชนิดใดก็ตาม ห้ามเด็ดขาดสำหรับการขัดยางด้วยแปรงและผงซักฟอก เพราะจะทำให้โมเลกุลของคาร์บอนและสารเคมีที่อยู่ในเนื้อยางเสียหาย เนื้อยางหมดอายุก่อนเวลาอันควร หรือสังเกตได้ง่ายๆ ว่าอาจแตกลายงาเพิ่มขึ้น หากต้องการทำความสะอาดควรใช้สเปรย์หรือน้ำยาทำความโดยเฉพาะเท่านั้น
และสำหรับท่านที่นิยมนำยางไปลุยจริงๆ เมื่อกลับออกมาจากทริป อย่าลืมตรวจเช็คตะกั่วถ่วงล้อที่อาจหลุดไประหว่างทาง และหากมีเวลาควรนำยางไป "ล้างขอบ" ซึ่งก็คือ ถอดยางออกจากล้อ เพื่อทำความสะอาดเศษฝุ่นทรายที่มักอัดอยู่ในร่องระหว่างล้อกับยาง จนทำให้ลมยางซึมออกมาได้

อัตราความสามารถรองรับความเร็วสูงสุดของยาง
(แสดงบนแก้มยาง) รหัส ความเร็ว กม. / ชม.
l 120
m 130
n 140
p 150
q 160
r 170
s 180
t 190
u 200
h 210
v 240

อัตรารับน้ำหนักที่แรงดันลมยางสูงสุด
รหัส น้ำหนักที่รับได้ (กิโลกรัม)
60 250
70 335
80 450
90 600
100 800
110 1,060
120 1,400
130 1,900

ตัวเลขขนาดยาง
225 / 70r15 80s
225 ความกว้างของหน้ายางหน่วยเป็น มม.
70 ความสูงของหน้ายาง เป็น 70 เปอร์เซ็นต์ ของหน้ายาง
r ยางเรเดียล
15 ความยาวเส้นผ่าศูนย์กลางของล้อ หน่วยเป็นนิ้ว
80 รหัสอัตรารับน้ำหนักสูงสุดต่อล้อ (80 เท่ากับ 450 กก.)
s อัตราความเร็วสูงสุด (s เท่ากับ 180 กม./ชม.)
30x 9.5 r15 lt
30 เส้นผ่าศูนย์กลางของยาง หน่วยเป็นนิ้ว
9.5 ความกว้างของหน้ายางเป็นนิ้ว
r ยางเรเดียล
15 ความยาวเส้นผ่าศูนย์กลางของล้อ หน่วยเป็นนิ้ว
lt โครงสร้างยางแบบไลท์ทรัค



teentoa.com ขอขอบคุณ
บทความโดย ไลฟ์แอนด์ออลวีลไดรฟ์
เรียบเรียง ตีนโต ดอทคอม


 


article [last update 02-06-06]

 
Copyright @ 2005 / Web Designed by : teentoa / Since : 24 April 2006
All Right Reserved, Contact us : teentoa@yahoo.com