article [last update 17-08-06] อ่าน

เรื่องของเทอร์โบ

ข้อสงสัยเกี่ยวกับ เทอร์โบ ชาร์จเจอร์ และส่วนที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

ถาม : เทอร์โบ ชาร์จเจอร์ ทำหน้าที่อะไร มีประโยชน์อย่างไร?
ตอบ : เทอร์โบ ชาร์จเจอร์ทำหน้าที่อัดอากาศจากก้อนใหญ่ๆ ให้มีขนาดของก้อนเล็กลง แต่มีความหนาแน่นหรือมีเนื้ออากาศมากขึ้น เพื่อให้สามารถยัดก้อนอากาศนั้นลงไปในห้องเผาไหม้ที่มีขนาดคงที่ได้ การที่สามารถเอาอากาศที่มีเนื้อมากๆ ใส่ลงไป ทำให้น้ำมันที่ปัจจุบันนี้สามารถควบคุมการจ่ายให้มากหรือน้อยตามจังหวะการเร่งได้ สามารถคลุกเคล้ากันระหว่างอากาศกับน้ำมันในส่วนผสมที่เหมาะสม เกิดการจุดระเบิดที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทำให้ได้พลังงานจากน้ำมันเต็มที่ไม่ต้องฉีดทิ้งฉีดขว้างออกไปทางท่อไอเสียอีกต่อไป จึงเป็นคำที่กล่าวกันว่า “ทำให้ประหยัดมากขึ้น” นอกเหนือไปจากการได้พลังงานเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

ถาม : มีเทอร์โบ ชาร์จเจอร์ แล้ว จำเป็นต้องติดตั้งเทอร์โบไทม์เมอร์หรือไม่?
ตอบ : ไม่จำเป็นต้องติดตั้งเทอร์โบไทม์เมอร์แต่อย่างใด เทอร์โบไทม์เมอร์ทำหน้าที่เป็นตัวหน่วงเวลาการดับเครื่องยนต์ ที่เกิดขึ้นมาในรถแข่งที่ใช้ระบบอัดอากาศแบบเทอร์โบ ชาร์จเจอร์ เพราะในการแข่งขันรถยนต์ทั้งหลาย เมื่อถึงจุดที่ต้องรับการซ่อมบำรุงหรือเติมน้ำมัน จะต้องดับเครื่องยนต์ลงทันทีทั้งตามกติกาและตามกฎว่าด้วยความปลอดภัย

ซึ่งการดับเครื่องยนต์ลงทันทีในขณะที่เครื่องยนต์ทำงานอยู่ด้วยความเร็วรอบสูงๆ เท่ากับว่าปั๊มน้ำมันเครื่องซึ่งทำหน้าที่สูบฉีดน้ำมันเครื่องไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ รวมทั้งแกนเทอร์โบ หยุดทำงานลง แต่แกนของใบพัดเทอร์โบหรือที่เรียกกันว่าแกนเทอร์ไบน์ ยังคงหมุนต่อไปอีกระยะหนึ่งด้วยแรงเฉื่อยที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง

และเป็นการหมุนด้วยรอบการทำงานที่สูงพอสมควร การขาดน้ำมันเครื่องไปหล่อเลี้ยงอันเนื่องมาจากปั๊มน้ำมันเครื่องไม่ทำงานเพราะเครื่องยนต์ดับลงแล้ว จึงทำให้แกนเทอร์ไบน์ไหม้จนเสียหายได้ วิศวกรยานยนต์จึงคิดเอาเทอร์โบไทม์เมอร์ขึ้นมา เพื่อที่ว่าหลังจากผู้ขับขี่ได้บิดสวิตช์กุญแจดับเครื่องยนต์ลงไปแล้ว หากว่าแกนเทอร์ไบน์ยังหมุนอยู่ เครื่องยนต์ก็จะยังคงทำงานต่อไปอีกระยะหนึ่ง ประมาณ 1-3 นาที หรือมากกว่านั้นแล้วแต่จะปรับตั้งระยะเวลาเอาไว้ เพื่อให้แกนเทอร์ไบน์หยุดหมุนก่อนแล้วเครื่องยนต์จึงดับตามลงไป เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้นในระบบเทอร์โบ ชาร์จเจอร์นั่นเอง

สำหรับรถยนต์ที่ใช้งานตามปกติทั่วไปนั้น เทอร์โบ ชาร์จเจอร์จะถูกตั้งให้เริ่มทำงานและหยุดทำงานที่รอบเครื่องยนต์ทำงานประมาณ 1,800 รอบ/นาที (เป็นค่าโดยประมาณที่ไม่เท่ากันในเครื่องยนต์แต่ละยี่ห้อแต่ละรุ่น)
ดังนั้นสมมติว่ามีการขับรถไปด้วยความเร็วสูงเป็นระยะทางไกลๆ และผู้ขับขี่ต้องจอดรถ อาจจะเพื่อเติมน้ำมันเชื้อเพลิงหรือเพื่อพักผ่อนก็ตาม ก่อนจะถึงที่หมายปลายทางที่ต้องการจอด ผู้ขับต้องชะลอความเร็วรถลงตามลำดับ ซึ่งหมายถึงว่าความเร็วรอบของเครื่องยนต์ก็จะลดลงตามลำดับไปด้วย เทอร์โบ ชาร์จเจอร์ จึงหยุดทำงานไปก่อนจะถึงจุดหมายปลายทางทุกครั้ง แรงเฉื่อยที่เกิดขึ้นกับแกนใบพัดเทอร์โบก็จะทำให้แกนใบพัดค่อยๆ ลดความเร็วลงจนถึงขั้นหยุดนิ่งก่อนที่รถยนต์จะจอดลงด้วยซ้ำไป เทอร์โบไทม์เมอร์จึงไม่ใช่สิ่งจำเป็น ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้ผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายตามสายพานการผลิตปกติ ก็ไม่มียี่ห้อใดติดตั้งเทอร์โบไทม์เมอร์มาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน

ยกเว้นเสียแต่ว่าใครก็ตามที่ชอบขับรถด้วยความเร็วสูงๆ และชอบจอดรถด้วยการเบรกกะทันหันหรือใช้การเชนจ์เกียร์ลงจนรอบเครื่องยนต์กระตุกสูงขึ้น แล้วจึงดับเครื่องยนต์ลง หรือคนที่ยังติดชินกับนิสัยเก่าๆ ดั้งเดิม คือต้องเบิ้ลเครื่องยนต์ด้วยรอบสูงๆ แล้วจึงบิดสวิตช์กุญแจลงกะทันหัน ถ้าเป็นดังที่ว่ามานี้ก็ไปติดตั้งเทอร์โบไทม์เมอร์เอาไว้ได้ไม่เสียหายอะไร

ข้อควรระวัง สำหรับคนที่นำรถไปติดตั้งเทอร์โบไทม์เมอร์ก็คือ หากการติดตั้งทำโดยช่างที่ไม่ชำนาญการเพียงพอ ระหว่างที่ท่านบิดสวิตช์กุญแจดับลงแล้ว แต่เครื่องยนต์ยังติดอยู่ด้วยการหน่วงเวลาของเทอร์โบไทม์เมอร์ ระบบกันขโมยอาจจะไม่ทำงานตามปกติเช่นที่ควรจะเป็นรถยนต์ของท่านอาจจะหายไปได้อย่างง่ายดาย จึงต้องระมัดระวังเอาไว้เป็นพิเศษ และการตั้งหน่วงเวลาการดับเครื่องยนต์นั้น ไม่ควรตั้งไว้นานเกินกว่า 3 นาที เป็นอันขาด เพราะเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงและสร้างมลพิษในอากาศให้กับผู้อื่นครับ

 


teentoa.com ขอขอบคุณ
บทความโดย ออโต้ คลีนิค
เรียบเรียง ตีนโต ดอทคอม


 

article [last update 17-08-06]


 
Copyright @ 2005 / Web Designed by : teentoa / Since : 24 April 2006
All Right Reserved, Contact us : teentoa@yahoo.com