article [last update 09-05-07] อ่าน

คุณรู้จัก “ทอร์ชั่นบาร์” หรือเปล่า ?

ทอร์ชั่นบาร์ หรือ คานรับแรงบิดโดยทั่วไปรูปทรงมาตรฐานก็คือ เหล็กสปริงท่อนกลมยาวๆ ผ่านกรรมวิธีการผลิตคล้ายแหนบหรือคอยล์สปริง (รวมถึงเนื้อโลหะที่ใช้ในผลิตก็มักเป็นเกรดเดียวกัน อาทิ 5160 ซึ่งเมื่อแตกหักหรือหมดสภาพการใช้งานสามารถเอามาทำเป็นมีดเดินป่าได้อย่างมีคุณภาพน่าประทับใจเลยทีเดียว) ความแตกต่างนอกจากรูปทรงก็มีเพียงการทำงานที่ทอร์ชั่นบาร์ใช้การบิดและคืนตัว ขณะที่ทั้งแหนบและคอยล์สปริงใช้การยุบและคืนตัว

ตำแหน่งของทอร์ชั่นบาร์ แน่นอนว่าเป็นชิ้นส่วนของระบบกันสะเทือน ที่โดยมากต้องอยู่ใต้ท้องรถ จุดยึดของทอร์ชั่นบาร์จึงแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ด้านหัวและท้าย โดยด้านหัวมักติดตั้งบริเวณปีกนก อาจเป็นได้ทั้งปีกนกบนหรือปีกนกล่างแล้วแต่ระบบของช่วงล่าง ส่วนด้านท้ายอาจยึดติดกับโครงตัวถังหรือแชสซีย์ของรถแล้วแต่โครงสร้างของรถแต่ละรุ่น ซึ่งท่อนเหล็กช่วงกลางระหว่างจุดยึดหัว/ท้ายนี่เอง ที่ทำหน้าที่เป็นตัวรับน้ำหนัก โดยหัวเหล็กทอร์ชั่นบาร์ที่ยึดติดอยู่กับจดหมุนของปีกนก ไม่ว่าจะเป็นปีกนกบนหรือปีกนกล่าง เช่นหากยึดติดกับปีกนกบน หากรถเกิดการยุบตัว แกนปีกนกบนจะให้ตัว เพื่อปล่อยให้ล้อยุบตัวขึ้นไปด้านบน ช่วงนี้เองที่ปีกนกจะบังคับให้ทอร์ชั่นบาร์ซึ่งยึดติดอยู่เกิดการบิดตัวเป็นองศา เท่ากับการยุบตัวของปีกนก และจากการเป็นเหล็กสปริงนี่เอง ทอร์ชั่นบาร์เมื่อบิดตัวแล้วจึงมีแรงบิดกลับหรือดีดให้ตัวรถและปีกนกกลับสู่ตำแหน่งเดิม โดยมีช็อคอับทำหน้าที่ซับแรงมิให้การดีดกลับรุนแรงเกินไป

วิธีทำให้ทอร์ชั่นบาร์รับน้ำหนักได้มากขึ้น หรือเท่ากับการยุบตัวได้น้อยลง ก็คือการทำให้ทอร์ชั่นบาร์บิดตัวได้ยากมากขึ้น มีอยู่ 2 วิธีหลักๆ คือ ทำให้มีขนาดสั้นลง หรือมีเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่ขึ้น และใช้เหล็กที่นำมาผลิตมีคุณสมบัติรับแรงเค้นและน้ำหนักได้มากขึ้น
ทอร์ชั่นบาร์ที่ติดกับรถมาจากโรงงานส่วนใหญ่ออกแบบมาเพื่อรับน้ำหนักรถหรือความสูงแบบเดิมๆ ไม่ได้รองรับเพื่อการติดตั้งกันชนหน้าแบบโลหะที่มีน้ำหนักมากหรือการติดตั้งวินช์ ที่มีน้ำหนักรวมกันชนไปห้อยอยู่ด้านหน้าประมาณ 70 กก. จนมีผลทำให้หน้ารถมุดต่ำลงจนเห็นได้ชัด และมีผลต่อสมรรถนะการขับขี่ของรถ

การแก้ไขเบื้องต้นง่ายๆ โดยทั่วไปก็คือการขันตั้งทอร์ชั่นบาร์ให้บิดตัว เพื่อยันให้ตัวรถสูงขึ้นตามระดับที่ต้องการ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมานอกจากความแข็งกระด้างและดีดตัวอย่างมากในช่วงแรก ก็คือทอร์ชั่นบาร์เกิดความล้าจากการบังคับให้ดีดตัวอยู่บิดยันอยู่ตลอดเวลา จึงเริ่มย้วยกลับลงมาจุดเดิมและต้องปรับตั้งใหม่จนในที่สุดเหล็กก็เกิดความเครียดถึงจุดวิกฤติ จนสามารถแตกหักได้ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นขณะปรับตั้งหรือใช้งานเมื่อรถต้องยุบลงมากๆ ซึ่งอย่างหลังนี้อาจอันตรายมากหน่อย

ส่วนทอร์ชั่นบาร์ของสำนักแต่งต่างๆ ที่ออกมาหลากหลายร่วม 10 ยี่ห้อนั้น โดยมากมักมีคุณสมบัติเพื่อรองรับการใช้งานในลักษณะต่างๆ เช่นเพื่อความสูง, รับน้ำหนักมากขึ้น หรือทั้งเพิ่มความสูงและรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นด้วย อย่าเพิ่งคิดว่าเลือกอย่างหลังมาใช้จะครอบจักรวาล คุ้มค่ากว่า เพราะหากภาระไม่มากขนาดนั้นแต่เลือกอุปกรณ์แบบเฮฟวี่ดิวตี้เช่นนี้มาใช้ คุณอาจได้เผชิญกับความรู้สึกของการนั่งเกวียนแทนรถก็เป็นได้

โดยมากของทอร์ชั่นบาร์จากสำนักแต่งมักมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางบริเวณจุดรับแรง หรือส่วนกลางของทอร์ชั่นบาร์มีขนาดใหญ่กว่าทอร์ชั่นบาร์ของเดิมจากโรงงานผลิตรถยนต์ หรือบางรูปแบบอาจดีไซน์ให้ปลายใหญ่กว่าส่วนกลางบ้างเล็กน้อยเพื่อการกระจายแรงที่ดีขึ้น โดยหลังจากติดตั้งทอร์ชั่นบาร์แล้วอาจต้องมีการปรับตั้งบ้างเล็กน้อย เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน

ประโยชน์โดยทั่วไปของทอร์ชั่นบาร์ที่ว่ามาก็คือช่วยควบคุมการให้ตัวของระบบช่วงล่าง ซึ่งมีผลต่อการควบคุมบังคับของตัวรถ ด้วยความหนืดที่มากขึ้นนั้น ก็มีผลในเรื่องการสั่นสะเทือนของตัวรถ หรือในขณะเบรกที่มีการถ่ายน้ำหนักมาด้านหน้านั้น ทอร์ชั่นบาร์ก็มีส่วนในการควบคุมแรงเฉื่อยที่เกิดขึ้นและช่วยในการควบคุมทิศทาง รวมถึงการเอียงตัวของรถ การบังคับเลี้ยวต่างๆ

เอาเป็นว่ารถที่เข้าข่ายต้องพิจารณาเรื่องทอร์ชั่นบาร์ก็คือ รถที่ยกสูงมากขึ้นเกิน 2 นิ้ว หรือติดตั้งอุปกรณ์จนเพียบกระทั่งหน้ามุด ส่วนใครที่รถเดิมๆ ยกสูงจากเดิมไม่เกิน 2 นิ้ว (ไม่รวมความสูงของยาง) ก็เอาเป็นว่าของเดิมยังใช้ได้อยู่ครับ ไม่ต้องดิ้นรนไปเสียเงิน


teentoa.com ขอขอบคุณ
บทความโดย ไลฟ์แอนด์ออลวีลไดรฟ์
เรียบเรียง ตีนโต ดอทคอม


 

article [last update 09-05-07]

 
Copyright @ 2005 / Web Designed by : teentoa / Since : 24 April 2006
All Right Reserved, Contact us : webmaster@teentoa.com นายตีนโต 08949-09005