article [last update 16-05-07] อ่าน

ปัญหาในหน้าฝน

ปัญหาแรกที่พบมากที่สุดคือปัญหาของการเปิดไฟฉุกเฉินในขณะฝนตก ซึ่งผมเคยเขียนบอกไปเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “ห้ามเปิดไฟฉุกเฉินขณะล้อหมุน” แต่ก็ยังพบเห็นกันเสมอๆ บนท้องถนนขณะฝนตก จึงน่าจะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้ง กรมการขนส่งทางบก, ตำรวจ, การทางพิเศษ ฯลฯ ที่ต้องออกมารณรงค์ เพราะตัวผมเองรณรงค์มานับ 10 ปีแล้วแต่ยอมรับว่าไม่สำเร็จ ยกเว้นแต่ว่าหน่วยงานราชการทั้งหลายยังคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือคือว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้ว

การเปิดไฟฉุกเฉินนั้น มีแต่จะทำให้การสื่อสารกันด้วยสัญญาณไฟมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกิดขึ้น เช่นเมื่อคุณเปิดไฟฉุกเฉินขณะที่ขับรถผ่านทางแยก รถที่รออยู่ด้านซ้ายมือของคุณ จะสามารถมองเห็นได้เฉพาะไฟด้านซ้ายของรถคุณ เลยเกิดเข้าใจว่าคุณจะเลี้ยวซ้ายผ่านตลอด เขาก็อาจจะขับผ่านตรงข้ามทางแยกไป หรืออาจจะเลี้ยวซ้ายขึ้นถนนเส้นเดียวกับคุณ จนทำให้เกิดการชนกันได้

หรือแม้แต่ในขณะที่ฝนตกหนักอยู่นั้น เมื่อคุณเปิดไฟฉุกเฉินขึ้นมา สัญญาณไฟเลี้ยวหลังที่รถยนต์ปัจจุบันนี้มักจะติดตั้งแบบที่สามารถให้ความสว่างได้สูงมาก จะเปิดกะพริบเป็นจังหวะๆ ทำให้ผู้ที่ต้องขับรถตามหลังคุณเกิดความมึนงงจากการกะพริบของไฟได้ แม้แต่ตัวคุณเองก็จะเกิดความรำคาญกับเสียงดังติ๊กๆๆๆๆ ของตัวปรับจังหวะที่เรียกว่า “แฟลชเชอร์” และแสงจากไฟฉุกเฉินด้านหน้าจะไปกะพริบสว่างวาบๆ จับติดกับม่านสายฝน จนทำให้เกิดแผ่นสีเหลืองอมส้มกระจายด้านหน้ารถคล้ายกับการฉายไฟฉายในมุ้ง ทำให้ไม่สามารถมองผ่านทะลุม่านฝนออกไปเห็นสภาพเส้นทางเบื้องหน้าได้

การใช้สัญญาณไฟเมื่อขับรถท่ามกลางสายฝนที่ถูกต้อง คือให้เปิด "ไฟหน้าต่ำ" เท่านั้น หรือหากมีไฟตัดหมอกที่มีลำแสงเป็นจุดไม่ขยายบานเป็นวงกว้าง และปรับจุดตกกระทบของลำแสงเอาไว้ต่ำๆ จุดตกกระทบห่างกันชนหน้ารถไปไม่เกิน 10 เมตร ก็สามารถเปิดขึ้นมาช่วยได้ อย่าเปิดไฟสูงเป็นอันขาด เพราะจะทำให้ไม่สามารถมองเห็นพื้นถนนได้ เนื่องจากความสว่างของไส้หลอดไฟสูงจะสว่างกว่าไส้หลอดไฟต่ำ จึงกลบลำแสงของไฟต่ำไปจนหมด

ในกรณีที่รถของคุณเป็นรถยนต์รุ่นใหม่ มีสวิตช์เพิ่มความสว่างของไฟท้าย ซึ่งที่สวิตช์จะมีรูปสัญลักษณ์คล้ายกับไฟสปอตไลท์ แต่มีเส้นหยักๆ เป็นคลื่นตัดด้านหน้าของหลอดไฟ ก็ให้เปิดสวิตช์ดังกล่าวขึ้นมาเพื่อให้ไฟท้ายมีความสว่างมากขึ้น แต่การเปิดสวิตช์ดังกล่าวนี้ต้องระวัง หากผ่านสถานที่ซึ่งฝนตกหนักมาแล้ว และไม่ได้วิ่งด้วยความเร็วคงที่ แต่ใช้ในการจราจรในเมืองที่ติดขัด ควรรีบปิดสวิตช์ไฟดังกล่าวลง เพราะหลอดที่ช่วยเพิ่มความสว่างของไฟท้าย จะทำให้มีความร้อนมากขึ้นภายในฝาครอบไฟท้าย อาจจะทำให้ฝาครอบไฟท้ายละลายเสียรูปทรงได้

สำหรับคนขับรถหลายท่านที่รู้สึกว่าหนาวเมื่อฝนตก แนะนำว่าอย่าปิดแอร์ในรถของท่านเป็นอันขาด เพราะการปิดแอร์จะทำให้กระจกทุกบานในรถเกิดฝ้าได้ง่าย ทัศนวิสัยและขีดความสามารถในการมองเห็นของผู้ขับขี่จะเสียไป วิธีที่ถูกต้องคือ ควรเปิดแอร์ให้อุณหภูมิในรถเย็นกว่าภายนอกเล็กน้อย และหากผู้ขับขี่และผู้โดยสารรู้สึกว่าหนาว ควรแก้ไขด้วยการลดความเย็นของแอร์ลง หรือหาเสื้อแจ๊คเก็ตมาสวมป้องกันอาการหนาว

และหากพบว่ากระจกรถของท่านเกิดฝ้าขึ้นมาโดยเฉพาะกระจกบังลมด้านหลัง ให้ท่านเปิดสวิตช์ขดลวดความร้อนละลายฝ้า จากนั้นให้คอยสังเกตจากกระจกมองหลังว่า บริเวณที่เป็นเส้นขดลวดความร้อนละลายฝ้า เริ่มมีความร้อนละลายฝ้าสมกับชื่อ จนทำให้บริเวณใกล้ๆ เส้นขดลวดเริ่มใสมากขึ้นหรือยัง หากพบว่ากระจกเริ่มใสแล้วก็ให้ปิดสวิตช์ลงไปทันที เพราะหากทิ้งไว้ แม้รถของท่านมีระบบอัตโนมัติตัดการทำงานเมื่อความร้อนถึงระดับก็ตาม ความร้อนที่ระดับซึ่งถูกตั้งไว้ จะทำให้ฟิล์มกรองแสงที่ติดไว้ที่กระจกเสื่อมสภาพง่ายขึ้น หรืออาจจะถึงขั้นทำให้กระจกบังลมหลังของท่านระเบิดแตกขึ้นมาได้ง่ายๆ เช่นกัน

จะเห็นว่าปัญหาของการใช้รถในฤดูฝน มีมากกว่าการใช้รถในฤดูอื่นๆ ผู้ใช้รถจึงมีความจำเป็นต้องหาข้อมูลกันเอาไว้ เพื่อความประหยัดและปลอดภัยจากการใช้รถครับ


teentoa.com ขอขอบคุณ
บทความโดย ออโต้ คลีนิค
เรียบเรียง ตีนโต ดอทคอม


article [last update 16-05-07]


 
Copyright @ 2005 / Web Designed by : teentoa / Since : 24 April 2006
All Right Reserved, Contact us : webmaster@teentoa.com นายตีนโต 08949-09005