article [last update 24-05-07] อ่าน

การตรวจเช็ค + ดูแลสภาพยาง

การตรวจเช็คสภาพยางนั้น
ส่วนใหญ่ก็ต้องเริ่มต้นตามที่บอกมาคือ ตรวจสอบสภาพแรงดันลมภายในยาง ไม่ว่าจะตำราหรือคู่มือไหนก็มักจะบอกตรงกันว่า ให้เปิดดูบริเวณเสาประตูรถ จะพบสติกเกอร์สีเหลืองติดอยู่ ซึ่งที่สติกเกอร์จะบอกเอาไว้ว่ารถคันนั้นๆ ควรใช้ลมยางที่ล้อหน้าและล้อหลังเท่าใด

แต่สำหรับผม ขอนอกสูตรคนอื่นตามประสาศิษย์นอกคอกของอาจารย์ว่า แรงดันลมที่ผู้ผลิตรถยนต์กำหนดนั้น หลายครั้งพบว่าเป็นการกำหนดสำหรับยางคนละขนาดกับที่ติดรถอยู่ หรือแม้แต่ยางมีขนาดเดียวกันแต่เมื่อใช้งานจริงกลับพบปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากหากผู้ผลิตรถยนต์ต้องการให้ผู้ซื้อรถเห็นว่ารถของเขามีความนุ่มนวล ก็อาจจะกำหนดลมยางให้อ่อนกว่าที่ควรเล็กน้อย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเขาเห็นว่ารถยนต์ของเขาเป็นรถยนต์สำหรับใช้งานเมือง ซึ่งความเห็นของผู้ผลิตกับการใช้งานจริงของผู้ซื้อ อาจจะต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ อีกทั้งการกำหนดค่าแรงดันลมยางเป็นการกำหนดค่าชนิดที่เรียกว่า “ค่าแนะนำ” ไม่ใช่กำหนดแบบ “ค่าบังคับ” ซึ่งหมายถึงสามารถปรับค่าได้ตามความพึงพอใจของผู้ใช้งาน

ผมจึงขอแนะนำว่าสำหรับรถยนต์เก๋งนั่งทั่วไปที่ใช้ยางมาตรฐาน มีขนาดยางตั้งแต่ 14 นิ้ว, 15 นิ้ว และ 16 นิ้ว มีความสูงของแก้มยางตั้งแต่ซีรีส์ 55, 60, 65 และ 70 ให้เจ้าของรถเริ่มต้นเติมลมยางที่แรงดัน 30 ปอนด์/ตารางนิ้ว จากนั้นให้สังเกตดูขณะขับใช้งานโดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่ผ่านถนนขรุขระ ดูว่าระดับการกระเทือนที่เกิดขึ้นคุณสามารถรับได้หรือไม่ หากพบว่าการกระเทือนอยู่ในเกณฑ์รับได้ไม่ทำให้หัวสั่นหัวคลอนเกินไป ก็ลองเพิ่มแรงดันลมยางอีกสัก 2 ปอนด์/ตารางนิ้ว ทดลองทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แต่อย่าให้แรงดันลมยางเกินกว่า 37 ปอนด์/ตารางนิ้ว

เมื่อไปถึงระดับที่รู้สึกว่ารถกระเทือนมากจนเกิดความรู้สึกไม่สบาย จึงลดแรงดันลมยางสัก 1 หรือ 2 ปอนด์ ให้กลับมาอยู่ระดับที่รู้สึกกระเทือนน้อยลงและนุ่มนวลจนคุณพึงพอใจ และเมื่อจะต้องเดินทางไกลหรือเมื่อคุณคิดว่าต้องขับรถด้วยความเร็วสูงต่อเนื่อง จึงเพิ่มแรงดันลมยางเข้าไปอีก 2 ปอนด์/ตารางนิ้วทุกล้อ สูตรของผมที่บอกมานั้น เป็นสูตรสำหรับรถเก๋ง และใช้แรงดันลมยางเท่ากันทั้ง 4 ล้อ เพื่อง่ายต่อการจำ

สำหรับการดูแลรักษายาง
ประการแรกควรตรวจดูสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปติดยัดอยู่ตามร่องดอกยาง ส่วนใหญ่ก็เป็นพวกเศษหินก้อนเล็กๆหรือเศษกรวดต่างๆ หากพบว่ามีการติดอยู่ตามร่องดอกยางก็ให้ใช้ไขควงหรือเครื่องมืออื่นๆ มาแคะออกไปเสียให้หมด เพราะหากปล่อยคาไว้อย่างนั้น เมื่อล้อหมุนกลิ้งไปตามจังหวะการวิ่งของรถ หินหรือของแข็งที่ติดอยู่กับร่องดอกยางจะถูกน้ำหนักของรถกดอัดไปจนทำให้เนื้อยางช้ำหรือฉีกขาดได้

แต่ถ้าหากพบว่าสิ่งแปลกปลอมที่ติดอยู่กับร่องดอกยางนั้นเป็นโลหะ หรือสงสัยว่าจะเป็นตะปูหรือโลหะอื่นใดที่คิดว่าฝังจนแทงทะลุเข้าไปในเนื้อยาง จงอย่ารีบร้อนแคะหรือใช้คีมดึงออกมา เพราะส่วนใหญ่เมื่อดึงหรือถอนโลหะหรือตะปูนั้นออกมา ลมภายในยางก็จะรั่วออกมาตามรอยที่ถูกแทงจนทะลุนั้นด้วย

วิธีการที่ถูกต้องที่สุดก็คือให้พยายามขับรถไปจนถึงร้านที่จำหน่ายและรับปะยาง แล้วจึงให้ช่างจัดการถอนเอาตะปูนั้นออกมาและปะยางให้เรียบร้อย หรือหากที่รถมียางอะไหล่และท่านมีขีดความสามารถในการเปลี่ยนยางได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ต้องมีเครื่องมือเช่นแม่แรง ประแจถอดล้อ พร้อมใช้งาน และต้องไม่อยู่ในที่เปลี่ยวจนอาจจะเกิดอันตรายด้านอื่นๆ ด้วย ก็ให้ท่านจัดการเปลี่ยนยางเส้นดังกล่าวแล้วใช้ยางอะไหล่ให้ทำหน้าที่แทน และต้องรีบนำยางเส้นดังกล่าวไปให้ช่างทำการปะอุดรูรั่วทันทีที่สามารถทำได้

สำหรับคนที่รักรถและต้องการให้รถดูสวยงามอยู่ตลอดเวลา อาจจะทำการล้างรถด้วยตนเองหรือนำรถไปให้สถานีบริการล้างรถให้บ่อยๆ มักจะพบว่ามี การนำเอาน้ำยาบางชนิดมาเสนอขายให้ใช้ขัดถูกแก้มยางเพื่อทำให้แก้มยางดูดำเงางามมากขึ้น ขอแนะนำว่าไม่จำเป็นจริงๆ จงหลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาประเภทดังกล่าว เพราะหลายครั้งที่พบว่าน้ำยาประเภทดังกล่าวนั้นทำให้ประสิทธิภาพการยึดเกาะถนนลดน้อยลง

ซึ่งแม้ว่าท่านจะใช้ทาถูไปที่บริเวณแก้มยางเท่านั้นก็ตาม แต่เมื่อรถเลี้ยวด้วยความเร็วนั้น แก้มยางจะโย้ตัวลงมาจนไหล่ยางส่วนที่เป็นรอยต่อของแก้มยางจะเป็นส่วนที่สัมผัสกับพื้นถนนด้วย ถ้าพื้นถนนช่วงนั้นเปียกหรือบวกกับลมยางของท่านไม่แข็งพอ จะยิ่งส่งผลให้การยึดเกาะถนนลดน้อยลงจนอาจจะเกิดอันตรายได้
ยางรถยนต์นั้นเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในแง่ของความปลอดภัย ความประหยัด และ ความนุ่มนวล ดังนั้นผู้ขับขี่รถยนต์ทุกคนจึงควรทำความรู้จักกับยางเอาไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ครับ

 


teentoa.com ขอขอบคุณ
บทความโดย ออโต้ คลีนิค
เรียบเรียง ตีนโต ดอทคอม


article [last update 24-05-07]


 
Copyright @ 2005 / Web Designed by : teentoa / Since : 24 April 2006
All Right Reserved, Contact us : webmaster@teentoa.com นายตีนโต 08949-09005