article [last update 06-06-07] อ่าน

เครื่องยนต์ยุคใหม่

รถยนต์ ถือเป็นสินค้าที่มีเทคโนโลยีพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง ไม่แพ้สินค้าประเภทที่ถูกเรียกว่าไอที หรืออินทีลีเจน เทคโนโลยีอื่นๆ ระบบหรือชิ้นส่วนต่างๆ ในรถยนต์ยุคเริ่มต้น ส่วนใหญ่จะเป็นชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ที่ทำงานในแบบกลไก ที่สามารถตรวจสอบการสึกหรอได้ด้วยตาเปล่าหรือด้วยเครื่องมือวัดมิติแบบง่ายๆ

นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 หรือตรงกับ พ.ศ.2533 เป็นต้นมา ผู้ผลิตรถยนต์ได้เริ่มนำเอาอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ไฟฟ้าเป็นต้นกำลังเข้ามาทำงานในรถมากขึ้น บางชิ้นก็ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ทำหน้าที่ตรวจวัดจังหวะการทำงานของส่วนที่เป็นกลไก บางชิ้นก็ใช้อิเล็กทรอนิกส์เป็นตัวควบคุมและสั่งการ คนใช้รถยนต์ในประเทศไทยยุคนั้นจึงเริ่มคุ้นหูกับคำว่า “กล่อง” หรือ “กล่อง ECU (Engine Control Unit)

เมื่อระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเกี่ยวพันกับรถยนต์มากขึ้น ข้อดีที่ได้รับคือมีการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ที่แม่นยำมากขึ้น เช่นระบบการสั่งจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงตามจังหวะการเร่ง ระบบจ่ายกระแสไฟแรงสูงสำหรับจุดระเบิดให้พอดีกับจังหวะการทำงาน หรือระบบควบคุมการจับตัวของผ้าเบรก เพื่อป้องกันการล็อกของผ้าเบรกขณะทำงาน ฯลฯ

ข้อเสียที่ตามมาก็คือ ช่างหรือผู้เป็นเจ้าของรถจะใช้การตรวจตราความพร้อมของชิ้นส่วน ด้วยการวัดสัดส่วนหรือใช้วิธี ตาดู, หูฟัง, จมูกดมกลิ่น ไม่ได้อีกต่อไป ทุกอย่างต้องเชื่อระบบการตรวจเตือนด้วยตนเอง (Checking & Warning) ที่จะปรากฏด้วยรูปของสัญญาณไฟหรือมาตรวัด หรือต้องเชื่อมั่นในเครื่องมือตรวจวัดเท่านั้น การควบคุมและการใช้งานรถก็จะต้องใช้วิธีการเดียวกันกับการควบคุมเครื่องบิน ที่ผู้ควบคุมขับขี่ต้องเชื่อมั่นในมาตรวัดทั้งหลายเป็นสำคัญ

เมื่อเครื่องมือวัดแจ้งเตือนมาในรูปแบบที่ถูกกำหนด เช่น มีไฟเตือนสว่างขึ้น หรือเข็มวัดแจ้งแสดงสถานะ ผู้ขับขี่ไม่มีสิทธิที่จะไม่เชื่อการเตือนนั้นๆ แต่อย่างใด ต้องทำการตามที่มีข้อแนะนำเอาไว้อย่างเคร่งครัด ยกตัวอย่างเช่นเมื่อมีไฟรูปเครื่องยนต์ติดสว่างเตือนขึ้นมา ผู้เป็นเจ้าของรถมักจะถามผมไปทางรายการวิทยุว่า “ต้องทำอย่างไร” ซึ่งผมก็ตอบกลับไปทุกครั้งว่า “ต้องนำรถไปเข้าศูนย์บริการเท่านั้น”

คนที่ถามผมเข้ามาก็มักจะบ่นน้อยอกน้อยใจว่า อุตส่าห์ถามมาเพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าศูนย์บริการที่ถูกกล่าวหาว่ามีค่าใช้จ่ายสูง แต่ผมกลับไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ ยังแถมผลักไสไล่ส่งให้กลับไปหาสิ่งที่เขาหนีมาอีกด้วยซ้ำไป

ซึ่งผมก็พยายามที่จะชี้แจงกลับไปว่า ส่วนใหญ่การที่ไฟเตือนรูปเครื่องยนต์ติดขึ้นมาขณะใช้งานรถนั้น หมายถึงระบบตรวจสอบด้วยตนเองพบว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น ส่วนสิ่งผิดปกติที่ตรวจพบนั้นจะเป็นปัญหาใหญ่หรือปัญหาเล็กน้อย ไม่สามารถทราบได้นอกจากไปทำการตรวจซ้ำด้วยเครื่องมือพิเศษเฉพาะ หรือเปิดสมุดคู่มือช่างดูเท่านั้น

หลายครั้งพบว่าการผิดปกติเกิดเพียงเพราะมีความชื้นเกิดขึ้นในระบบไฟบางจุด หรือเกิดจากการหลวมของข้อต่อสายไฟบางแห่ง หรือเพียงแค่หลอดไฟเบรกขาดก็เป็นได้ แต่บางครั้งก็พบว่าไฟเตือนขึ้นมาเพราะพบว่ามีความเสียหายที่หากปล่อยทิ้งไว้ จะทำให้เกิดการลุกลามของเครื่องยนต์และชิ้นส่วนอุปกรณ์อื่นๆ ต่อไป

การที่เครื่องยนต์หรือรถยนต์มีระบบตรวจและเตือนด้วยตนเองขึ้นมาอย่างนี้ ทำให้ผู้ใช้รถไม่มีความจำเป็นต้องมีความรู้เรื่องเครื่องยนต์กลไก หรือระบบสำคัญๆ ในรถมากเหมือนยุคก่อนอีกต่อไป แต่ต้องศึกษาคู่มือประจำรถให้แม่นยำ เพื่อที่จะรู้ว่าหากมีสัญญาณเตือนอย่างนั้นๆ เกิดขึ้น จะต้องทำอะไรเป็นขั้นตอนต่อไป ทำนองเดียวกันกับเด็กวัยรุ่นยุคปัจจุบันใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างไรอย่างนั้น

นอกเหนือไปจากการตรวจตราซ่อมบำรุงรถยนต์ยุคใหม่ ที่ผู้ใช้งานหรือเจ้าของรถไม่จำเป็นต้องรู้จักระบบการทำงานของเครื่องยนต์กลไกอีกต่อไปแล้ว เพียงแค่รู้จักการอ่านมาตรวัดและสัญญาณเตือนต่างๆ ให้แม่นยำถูกต้องก็เพียงพอ การใช้รถหรือการควบคุมรถหรือการขับขี่รถยนต์ยุคใหม่ ผู้ขับขี่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีความชำนาญหรือมีประสบการณ์ในการบังคับรถเหมือนคนขับรถยนต์ยุคเก่าอีกต่อไปเช่นกัน

เพราะผู้ผลิตรถยนต์ยุคใหม่ทั้งหลาย ต่างพากันยัดเยียดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายเข้ามาช่วยควบคุมรถกันมากขึ้น เช่น ระบบการช่วยลดระยะทางจากการเบรก ระบบป้องกันการลื่นไถลของตัวรถขณะเข้าโค้ง ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีขณะที่วิ่งไปบนถนนที่มีความลื่นต่างกัน ฯลฯ

ระบบช่วยต่างๆ ที่ผู้ผลิตติดตั้งมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรถยนต์ยุคใหม่ (แต่มีการคิดมูลค่าเพิ่มในราคาค่าตัวรถไปด้วยแล้ว) ล้วนแต่มีขีดความสามารถในการควบคุมและช่วยผู้ขับขี่ได้เป็นอย่างดี เพียงแต่ผู้ขับขี่ต้องรู้จักวิธีการสั่งการ หรือวิธีการใช้งานให้อุปกรณ์นั้นๆ ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ

การเรียนรู้วิธีการขับรถยนต์ยุคใหม่ จึงไม่ใช่เพียงแค่ไปเรียนแบบ “สอนโดยรถเก๋งเกียร์อัตโนมัติ ติดแอร์ จนสามารถสอบใบขับขี่ได้” อีกต่อไป แต่ต้องเรียนรู้และรู้จักรถที่จะต้องใช้งานให้แม่นยำ ลองสังเกตดูจากการควบคุมรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อในปัจจุบันก็จะพบความจริง ในอดีต การขับรถขับเคลื่อน 4 ล้อ ถือเป็นเรื่องของผู้ชำนาญการเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้ผู้หญิงหรือมือใหม่ที่ไหนก็ขับได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะติดหล่มหรือไม่ผ่านอุปสรรคแต่อย่างใด

รถยนต์ยุคใหม่จึงต้องการผู้ขับขี่ที่เรียนรู้จักการใช้งานอย่างถูกต้องและจริงจัง จึงจะได้สมรรถนะและประสิทธิภาพเต็มที่เท่าที่จ่ายเงินออกไป และช่วยลดอุบัติเหตุได้อย่างถูกต้องด้วยครับ

 


teentoa.com ขอขอบคุณ
บทความโดย ออโต้ คลีนิค
เรียบเรียง ตีนโต ดอทคอม


article [last update 06-06-07]

 
Copyright @ 2005 / Web Designed by : teentoa / Since : 24 April 2006
All Right Reserved, Contact us : webmaster@teentoa.com นายตีนโต 08949-09005