article [last update 00-00-07] อ่าน

ฝนตกรถติดรถเสีย

ปีนี้ดูท่าว่าฝนจะมาเร็วและมาแรงโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ฝนเทลงมาครั้งหนึ่งถนนหลายๆ สายก็กลายเป็นลำคลอง ฝนตกรถติดเป็นคำพูดที่แสนจะธรรมดา พูดกันมาเห็นกันมาตั้งนมนานแล้ว

รถติดตั้งแต่ยังไม่มีทางด่วน ไม่มีทางลอยฟ้า จนบัดนี้มีทั้งถนนลอยฟ้า มีทั้งรถไฟลอยฟ้า มีทั้งรถไฟไต้ดิน รถก็ยังติดกันอยู่ คนใช้รถคงทำอะไรไม่ได้มากกว่าบ่น บ่นแล้วก็บ่น ฝนตกรถติดยังพอทนแต่ถ้าท่านใดพบกับฝนตกรถติดและรถเสียบนถนนที่กลายเป็นคลอง คงเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสทั้งร่างกายและจิตใจ

ฝนตกรถติดเราคงแก้ไขอะไรกันไม่ได้ เมื่อมีความจำเป็นยังต้องใช้รถกันอยู่ แต่รถเสียเราระมัดระวังป้องกันได้ ถ้าเป็นรถเก่าๆ หรือผู้ที่มีรถคันแรก คงมีเรื่องต้องให้กังวลกันพอสมควรโดยเฉพาะกับผู้ที่ไม่ได้มีความรู้โดยตรงเกี่ยวกับเครื่องยนต์รถยนต์

แม้จะเป็นรถเก่าที่ใช้มาสิบปีแล้วก็ตาม รถที่มีอายุสิบปีขึ้นมาเป็นรถที่มีระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก และก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่า ไฟฟ้ากับน้ำไปด้วยกันไม่ค่อยจะได้

การเตรียมพร้อมเพื่อที่จะไม่ให้รถเสียบนถนนท่ามกลางน้ำนองหรือสายฝน จะว่าไปแล้วก็ไม่ยากเย็นอะไรนักสำหรับผู้ที่ไม่รู้เรื่องรถแต่ใช้รถเป็นประจำ คงต้องเริ่มเตรียมกันที่ แบตเตอรี่ ก็ควรต้องตรวจเช็คกันได้แล้วว่าแบตเตอรี่นั้นพร้อมที่จะใช้งานรับใช้เราไปได้อีกสักเท่าไร เริ่มที่ระดับน้ำกลั่นอยู่ในระดับที่พอเหมาะพอควรกันบ้างไหม ไม่เว้นแม้แต่แบตเตอรี่ที่เรียกกันว่า Maintenance Free ขั้วแบตเตอรี่ทั้งขั้วบวกและขั้วลบมั่นคงแข็งแรงดีสักแค่ไหน มีขี้เกลือเข้าไปจับที่ขั้วบ้างไหม ที่ขั้วบวกแผ่นปิดกันกระแสไฟรั่วยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ไหม สภาพของเปลือกแบตเตอรี่บวมพองบ้างไหม และที่สำคัญแบตเตอรี่ลูกนั้นใช้มานานสักเท่าไรแล้ว หน้าฝนเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะเปลี่ยนเอาแบตเตอรี่ลูกใหม่ๆ ใส่แทนลูกเก่าที่จำไม่ได้แล้วว่าซื้อมาตั้งแต่เมื่อไร

รถติดฝนตกโดยเฉพาะยามค่ำคืนที่ต้องใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า ทั้งหมดก็ต้องให้ผู้ชำนาญ (ร้านซ่อมไดฯหรือร้านแบตเตอรี่) ตรวจสอบดูว่าความสามารถในการสร้างกระแสไฟนั้นมีมากพอใช้หรือไม่ โดยเฉพาะกับการใช้ความเร็วของรถหรือรอบเครื่องยนต์ต่ำๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจวัดหากระแสไฟฟ้าที่อัลเตอร์เนเตอร์ (ไดชาร์จ) ปั่นไฟออกมาใช้ ซึ่งต้องสัมพันธ์กันกับความสามารถในการเก็บไฟของแบตเตอรี่ ถ้าเปลี่ยนแบตเตอรี่ลูกใหม่แต่ไดชาร์จทำงานไม่เต็มที่ ไม่นานไฟก็จะหมดจากหม้อแบตเตอรี่ หรือถ้าเปลี่ยนไดชาร์จใหม่ซึ่งมีประสิทธิภาพในการสร้างกระแสไฟเต็มที่ แต่แบตเตอรี่ไม่สามารถที่จะเก็บรักษาไฟไว้ได้ตามที่ควรจะเป็น โอกาสที่จะจอดเสียบนถนนก็มีมากพอๆ กัน เมื่อตรวจตราดูทั้งแบตเตอรี่และไดชาร์จจนมั่นใจแล้วก็หาสายพ่วงแบตเตอรี่เส้นใหญ่ๆ ติดรถไว้สักคู่หนึ่ง เท่านี้ปัญหาเรื่องรถเสียเพราะไม่มีไฟหรือไฟไม่พอ ก็หมดไปเปลาะหนึ่ง

รถกระบะเครื่องดีเซล ก่อนนี้เป็นรถไม่กลัวน้ำ แต่ยุคนี้เป็นยุคของคอมมอนเรล ซึ่งมีชิ้นส่วนระบบและอุปกรณ์ใกล้เคียงกันกับรถที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน ก็ต้องเข้มงวดกวดขันกันตามจุดต่างๆ มากหน่อย เครื่องดีเซลที่เป็นคอมมอนเรล จะต้องมีเทอร์โบชาร์จเจอร์และอินเตอร์คูลเพื่อลดอุณหภูมิของอากาศก่อนเข้าห้องเผาไหม้ท่อไอดีหรือท่ออากาศตั้งแต่ปากท่อก่อนเข้ากรองอากาศไปจนผ่านตัวอินเตอร์คูลส่วนใหญ่จะเป็นท่อขนาดใหญ่เป็นพลาสติก ต้องตรวจดูการรั่วซึมฉีกขาดของท่อกันอย่างละเอียด โดยเฉพาะกับรุ่นหรือยี่ห้อที่วางตำแหน่งของอินเตอร์คูลไว้หน้ารังผึ้งแอร์ ถ้าท่ออากาศรั่วหรือแคลมป์รัดท่อรัดไม่แน่น โอกาสที่น้ำจะถูกดูดเข้าไปพร้อมๆ กับอากาศก็เป็นไปได้สูงที่จะทำให้เสียเงินเสียทองกันมากมาย

ในเครื่องยนต์เบนซินรุ่นเก่าๆ ที่ยังใช้จานจ่ายแบบเดิมๆ และหัวเทียนแบบเดิมๆ ตรวจดูที่ปลั๊กเสียบสายไฟที่หัวจานจ่าย และที่ขั้วหัวเทียน ตรวจดูว่าปลั๊กเหล่านั้นยังแนบแน่นกับขั้วดีหรือไม่ เพราะถ้ายางซึ่งทำเป็นปลั๊กที่ใช้มานานๆ อาจจะยืดหย่อนยาน เมื่อวิ่งผ่านน้ำ น้ำอาจจะกระเซ็นเข้าใส่ทำให้เปียกชื้น กระแสไฟเดินไม่สะดวก เครื่องก็จะดับลงได้ง่ายๆ เปลี่ยนปลั๊กเปลี่ยนขั้วสายแล้วก็ตรวจดูข้อต่อปลั๊กตามจุดต่างๆ ดูว่ามีสายไฟเส้นใดบ้างที่ไม่น่าไว้วางใจ ก็จัดการแก้ไข จะเป็นโดยการหุ้มใหม่ด้วยเทปหรือเปลี่ยนใหม่กันทั้งเส้นก็เลือกเอา

สายพานที่ไปขับปั๊มน้ำและไดชาร์จ ก็ต้องตรวจดูว่าสภาพเป็นอย่างไร หลายครั้งที่ดูว่าดีแต่เมื่อถูกน้ำทำให้ลื่นไม่มีแรงที่จะไปขับมูลเลย์ทั้งที่ปั๊มน้ำหรือไดชาร์จได้ เครื่องก็จะร้อนไฟก็จะไม่ชาร์จ ก่อนออกจากบ้านตอนเช้าติดเครื่องแล้วก็ทดสอบความพร้อมของอุปกรณ์ที่ต้องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด รวมถึงไฟแสงสว่างรอบๆ รถด้วย ทำเช่นเดียวกันก่อนออกจากที่ทำงานเมื่อเลิกงาน

ไม่ว่าจะเป็นรถเครื่องดีเซลหรือเบนซินในฤดูฝนนี้ ถ้าจะต้องเติมน้ำมันเชื้อเพลิง ก็เลือกและพิจารณาปั๊มน้ำมันกันให้มากหน่อย ควรหลีกเลี่ยงปั๊มน้ำมันที่สร้างมานานๆ แล้วและอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นถนน เพราะอาจจะมีน้ำเข้าไปผสมกับน้ำมันได้ และจะก่อให้เกิดปัญหากับเครื่องยนต์ได้ง่ายๆ ตรวจตราดูแลเท่าที่กล่าวมาทั้งหมด ก็เชื่อว่าปัญหาที่จะทำให้รถเสียบนถนนที่กลายเป็นคลองนั้นน้อยลงไป

ส่วนที่เหลือก็เป็นเรื่องของการขับ ซึ่งเป็นทักษะของแต่ละบุคคลกันแล้ว เช่นบนถนนที่น้ำนองจะต้องไม่เร่งเครื่องแรงๆ รักษาระยะห่างจากคันหน้าให้เหมาะสม ใช้ความเร็วต่ำๆ ที่คงที่ และต้องรู้ว่าในขณะที่ลุยน้ำอยู่นั้น ระยะทางของการหยุดรถโดยเฉพาะจากการเบรก จะยาวมากกว่าปกติ และเมื่อพ้นจากสภาพน้ำท่วมขังแล้ว ต้องรู้ว่าจะขับรถแบบเลียเบรกอย่างไรเพื่อให้ประสิทธิภาพของเบรกกลับคืนมาอย่างเดิม

 


teentoa.com ขอขอบคุณ
บทความโดย นายประโยชน์
เรียบเรียง ตีนโต ดอทคอม


article [last update 00-00-07]


 
Copyright @ 2005 / Web Designed by : teentoa / Since : 24 April 2006
All Right Reserved, Contact us : webmaster@teentoa.com นายตีนโต 08949-09005