article [last update 20-07-07] อ่าน

ทำอย่างไรจึงใช้รถได้ทน

“ซื้อรถมือสองมาก่อนใช้งาน จะต้องทำอย่างไรหรือทำอะไรบ้างจึงจะใช้ได้อย่างทนทานคุ้มค่า คุ้มราคา” เป็นคำถามจากผู้ใช้รถที่ดูน่าจะจะตอบได้ไม่ยากนัก แต่เอาเข้าจริงแล้วเป็นเรื่องที่ยากมากๆ ที่จะตอบกันได้อย่างถูกต้องตรงตามที่ผู้ถามต้องการ

โดยเฉพาะกับผู้ที่ไม่มีความรู้เรื่องรถยนต์มาก่อนเลย และยิ่งยากเข้าไปใหญ่ถ้ารถคันนั้นจะต้องเป็นคันแรกในชีวิต แต่ก็เป็นคำถามที่น่าสนใจโดยเฉพาะกับช่วงเวลาของภาวะที่เป็นขาลงเสียไปหมดทุกอย่าง

ถ้าเป็นรถใหม่ก็ไม่ต้องคิดอะไรกันมาก ศูนย์บริการมีหน้าที่ดูแลและพร้อมที่จะให้คำตอบอยู่แล้วแต่การซื้อรถมือสองคันแรกคงมีน้อยรายที่จะนำรถเข้าไปใช้บริการในศูนย์บริการ จะใช้อย่างไรให้ทนคงต้องข้ามขั้นตอนจากการเลือกซื้อรถไปเลย เพราะเป็นคนละเรื่องกัน ถ้าเริ่มต้นกันตั้งแต่นำรถออกจากเต็นท์รถหรือจากเจ้าของรถคันเดิม

อย่างแรกเลยก็อยากจะให้บอกตนเองก่อนว่ารถที่เราซื้อมานั้นดีแล้วชอบแล้ว ไม่ต้องไปฟังเสียงนกเสียงกา ว่ารถที่เราซื้อมานั้น อดีต (ชื่อเสียง) เป็นอย่างไร อนาคต (ขายต่อ) จะเป็นอย่างไร สร้างความมั่นใจให้กับตนเองเป็นอันดับแรก เมื่อเรามั่นใจว่ารถที่เราขับนั้นดีทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากจะแก้ไข

รับรถมาวันแรกก็เพียงตรวจความพร้อมของรถว่าพร้อมที่จะออกไปวิ่งบนถนนหรือไม่ เบรกดี เกียร์ คลัตช์ เข้าได้ดีเหมาะสม ไฟเบรกไฟหรี่ไฟเลี้ยว ไฟหน้าไฟสูงไฟต่ำ เครื่องยนต์สตาร์ทติดง่าย ไฟเตือนบนหน้าปัดทำงานเป็นปกติ

ถ้าที่ว่ามานั้นถูกต้องสมบูรณ์ก็สบายใจได้แล้วว่าได้รถที่ดีมา จากที่จอดในเต็นท์หรือสถานที่ซื้อขาย ในระยะทางที่ขับไปนั้นไม่ว่าจะไปที่ใดก็ตาม อาจจะมีเสียงดังเกิดขึ้นในบางจุด เช่น เบาะนั่ง ตัวถัง ช่วงล่าง ก็อย่าเพิ่งไปตกอกตกใจหวาดระแวงว่าจะเป็นโน่นเป็นนี่ จดบันทึกเอาไว้ก่อนว่าเสียงเหล่านั้นเกิดที่จุดใดของรถ ภายในรถ นอกตัวรถ

ขับจนถึงที่พักหมั่นสังเกตมาตรวัดบนแผงหน้าปัดเอาไว้ว่า มีอะไรผิดปกติไหม ถ้ามีก็จดไว้ ในช่วงที่ขับวันแรกครั้งแรกนั้น พยายามขับให้นาน แต่ไม่ต้องเร็ว ใช้องค์ประกอบทุกอย่างที่มีในรถ เช่นถ้าเป็นเกียร์ธรรมดา มีห้าเกียร์ก็ใช้ให้ครบ ไล่ไปจากเกียร์หนึ่งสองสามจนถึงห้าตามความเร็วของเครื่องยนต์ แล้วเปลี่ยนกลับห้าสี่สามสองหนึ่ง มีข้อวิตกอะไรจดบันทึกเอาไว้

มาถึงขั้นนี้จนขับเข้าบ้านได้แล้วก็สบายใจว่าได้รถที่ดี ต่อไปก็เป็นเรื่องที่ต้องมาพิจารณากันว่าจะต้องดูแลอะไร เริ่มที่ไหนก่อน ควรจะเริ่มที่ระบบความปลอดภัย เท่าที่ขับมาต้องถามตัวเองว่าเบรกเป็นอย่างไร พอใจไหม

ระบบพวงมาลัย การทรงตัวเอาแค่นี้ก่อน ถามตนเองหลายๆ ครั้งว่าพอใจไหม มั่นใจไหมว่าในสภาพที่ขับอยู่นั้น เราจะสามารถควบคุมรถได้อยู่มือหรือไม่ ถ้าไม่มั่นใจก็ต้องถามตัวเองว่าจากระบบอะไรแล้วค่อยตรวจดูตามนั้นแยกเป็นเรื่อง ถ้าหากได้รถแล้วขับเข้าอู่บอกช่างว่าช่วยตรวจดูให้หน่อยเพิ่งซื้อรถมา ช่างได้ยินอย่างนี้ก็จะยิ้มว่าหมูเข้าเล้าแล้ว ถ้ารู้จักสังเกตอาการที่เกิดขึ้นแม้ว่าจะมีสิ่งที่ต้องซ่อมต้องแก้ไข ก็ยังมีข้อมูลพอที่จะเอาไปต่อรองกับช่างให้เสียค่าใช้จ่ายน้อยลงได้

จากระบบความปลอดภัย ก็มาดูว่าระบบใดของเครื่องยนต์ ถ้าเสียหายแล้วทำให้ต้องเสียเงินซ่อมมากๆ จนหน้ามืด ก็จะมีอยู่แค่สองระบบคือระบบระบายความร้อนกับระบบหล่อลื่นหรือน้ำมันเครื่อง เรื่องนี้ก็ไม่ยาก เริ่มที่การตรวจดูสีของน้ำในหม้อน้ำในหม้อพัก สายพานขับปั๊มน้ำ ท่อยางที่น้ำต้องไหลผ่าน ตรวจดูหาการรั่วซึม ถ้ามีก็แก้ไขไปตามจุดนั้นๆ

น้ำมันเครื่องดูสี ดมกลิ่น ไม่จำเป็นที่ว่าได้รับรถมาแล้วจะต้องรีบไปถ่ายน้ำมันเครื่อง ส่วนใหญ่แล้วผู้ขายมักจะดูแลมาก่อนแล้ว เช่นเปลี่ยนน้ำมันให้ใหม่เพื่อให้ดูว่าเครื่องยังดีอยู่แม้ว่าน้ำมันเครื่องนั้นจะเป็นแบบราคาถูกๆ แต่ก็เชื่อได้เลยว่าแม้จะเป็นน้ำมันเครื่องราคาถูกก็มีคุณสมบัติมากพอที่จะขับใช้งานได้ไม่ต่ำกว่าสามพันกิโลเมตร ในช่วงสามพันกิโลเมตรนี้มีเวลามากพอที่จะตรวจสอบได้ว่ารถกินน้ำมันเครื่องหรือไม่ มีจุดรั่วซึมที่ไหนที่ต้องรีบแก้ไขหรือไม่

ระบบความร้อนคือตัวการที่ทำให้เสียเงินก้อนใหญ่ ฝาสูบโก่งลูกสูบไหม้ แต่ถ้าตรวจดูตามข้างต้นแล้วปัญหาก็จะไม่เกิด น้ำมันเครื่องขาดน้ำมันเครื่องแห้งเป็นสาเหตุต้องทำให้เกิดการยกเครื่อง ลูกสูบติดชาพท์ละลาย ถ้าในระยะสามพันกิโลระดับของน้ำมันเครื่องยังปกติปัญหา ที่จะต้องยกเครื่องก็หมดไป

หัวข้อต่อไปที่จะทำให้ต้องเสียเงินก้อนใหญ่ก็คือเรื่องของเกียร์ ไม่ว่าจะเป็นเกียร์ธรรมดาหรือเกียร์ออโต้ การตรวจสอบด้วยตนเองโดยการขับสักสามพันกิโลเมตร ก็พอแล้วที่จะบอกได้ว่าเกียร์คลัตช์มีปัญหาอะไรหรือไม่
เอาละทีนี้ก็มาถึงเรื่องที่ต้องเสียเงินกันแล้วหลังจากขับแบบรันอินได้สามพันกิโลเมตร เข้าอู่ควรจะเป็นอู่ที่เราจะต้องพึ่งพาเขาตลอดที่ใช้รถคันนี้ อาจจะเป็นอู่เล็กๆ ไม่น่าเชื่อถือ แต่จะดีกว่าที่จะไปใช้อู่โน้นบ้างอู่นี้บ้าง มั่นใจแล้วว่าอู่นี้พึงพาอาศัยได้ก็แจ้งเขาไปว่าเปลี่ยนของเหลวให้หมด น้ำมันเครื่อง เกียร์ เฟืองท้าย น้ำหม้อน้ำ น้ำมันเบรก พร้อมให้ตรวจเบรกทั้งสี่ล้อ เท่านี้พอไม่ต้องไปชี้โพรงให้กระรอกว่าเพิ่งซื้อรถมาหรือดูโน่นดูนี่ให้ด้วย เพราะงานเปลี่ยนของเหลวตรวจเบรกก็หมดไปแล้วครึ่งวัน ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายอู่นั้นก็พออยู่ได้ ไม่ต้องหาเรื่องฟันอย่างอื่น

เมื่อทุกอย่างเสร็จตามที่คุณแจ้งให้เขาทำแล้ว ก็จะเริ่มคุ้นเคยกันพอที่จะสอบถามได้บ้างแล้วว่าจุดอื่นๆ มีอะไรต้องทำต้องดูไหม เช่น เสียงดังที่ล้อหน้า ให้เขาวินิจฉัยและตีราคาให้เพื่อที่จะมาทำวันหลัง ครับเท่าที่บอกมาถ้าคุณทำได้ตามนั้น ค่าใช้จ่ายในการดูแลก็จะไม่มากอย่างที่กลัว

คุณก็จะมีอู่หรือช่างที่จะพอพูดคุยปรับทุกข์เรื่องรถได้ ช่างหรืออู่นั้นก็จะมีลูกค้าขาประจำ และนั่นก็น่าจะบอกได้แล้วว่ารถที่คุณจะใช้ต่อไปนั้น ใช้ได้ทนทานสมกับความต้องการของคุณ

 


teentoa.com ขอขอบคุณ
บทความโดย นายประโยชน์
เรียบเรียง ตีนโต ดอทคอม


article [last update 20-07-07]


 
Copyright @ 2005 / Web Designed by : teentoa / Since : 24 April 2006
All Right Reserved, Contact us : webmaster@teentoa.com นายตีนโต 08949-09005