article [last update 28-09-07] อ่าน

ขับบนทางโคลน

เรื่องของคนชอบเที่ยว มักไม่ค่อยมีอะไรกำหนดตายตัวหรือเป็นสูตรเฉพาะ เอาแค่เรื่องของช่วงฤดูกาลเที่ยว บางคนบอกชอบหน้าหนาว เพราะอากาศเย็นสบาย แต่อีกบางคนบอกหน้าฝนดีกว่า ต้นไม้กำลังสวย ได้ออกกำลัง พร้อมฝึกทักษะการขับและใช้อุปกรณ์ไปในตัว

แต่เมื่อช่วงเวลานี้เป็นหน้าฝน ผมจึงขอว่าด้วยเรื่องการขับแบบออฟโรดในเส้นทางหน้าฝน เพราะดูจะเข้ากับช่วงเวลากว่า ที่สำคัญคือก่อนจะเข้าไปในเส้นทางอันเฉอะแฉะชุ่มไปด้วยดินโคลนและน้ำนั้น ต้องมั่นใจว่าอุปกรณ์ต่างๆ สามารถใช้งานได้อย่างครบครันและสมบูรณ์ เพราะภาระที่ชิ้นส่วนต่างๆ ของรถที่เผชิญนั้น มากกว่าการขับปีนป่ายบนเนินหินหลายเท่า

สิ่งที่ต้องจำขึ้นใจเสมอคืออย่าประมาท หากไม่แน่ใจเส้นทางเบื้องหน้า อย่าประเมินเข้าข้างตัวเอง ยอมเสียเวลาสักนิดลงไปดูให้แน่ใจ โดยเฉพาะลำธารดูด้วยตาเปล่าแล้วน่าจะตื้นจนขับรถข้ามไปได้ง่ายๆ แต่ความจริงอาจลึกกว่าที่คิด หากลำธารดูแล้วลึกสักหน่อย อย่าลืมใช้ผ้าใบบังด้านหน้าเพื่อป้องกันพัดลมเสียหาย และป้องกันแรงน้ำที่อาจสร้างความเสียหายต่ออุปกรณ์บางอย่างในห้องเครื่อง

รวมถึงแอ่งโคลนที่หลายคนดูแล้วบอกว่าสบายมาก แต่พอขับลงไปครบ 4 ล้อ ปรากฏว่าติดแหงกไปไหนไม่ได้ และที่แย่กว่านั้นเนินชันที่ดูแล้วไม่สูงเท่าใดนัก (ไม่ว่าจะเป็นการไต่ขึ้นหรือลง) บางครั้งอาจอันตรายถึงขนาดพลิกคว่ำได้อย่างคาดไม่ถึง เนินเขาเตี้ยๆ ที่ทอดตัวอยู่ด้านหน้า อาจมองดูแล้วไม่ใหญ่โตในเรื่องของความสูง และไม่ยากที่จะผ่านข้ามไป แต่ของที่ดูว่ากล้วยๆ อย่างนี้ก็ปราบเซียนมาหลายต่อหลายรายแล้ว เส้นทางที่ดูแล้วแค่ชื้นๆ ก็ใช่ว่าจะปลอดภัย โดยเฉพาะป่าแถบภาคเหนือที่เป็นดินแบบที่เรียก “ดินหนังหมู” แม้จะดูค่อนข้างแน่น ไม่เละ สภาพพื้นผิวอยู่ในเกณฑ์ดี อาจดูแค่ชื้นๆ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ปรากฏว่าลื่นสุดๆ เล่นเอานักข่าวทั่วโลกที่เข้าร่วมในแมทช์ jeep trek เมื่อหลายปีก่อน ต้องกินข้าวเที่ยงกันเกือบ 3 ทุ่ม

บางคนที่เที่ยวป่ามาบ่อยพอเห็นว่าไม่มีน้ำขัง อาจกดคันเร่งตะบึงเข้าใส่ โดยเฉพาะสภาพบนยอดของเนิน และเส้นทางด้านล่างของอีกฝั่งที่ต้องข้ามไป เพราะ 2 จุดนี้เป็นมุมบอดที่ผู้ขับไม่สามารถมองเห็นได้ จนกว่าจะขึ้นไปถึงข้างบนยอดเนิน ดังนั้น การลงเดินดูรอบๆ เพื่อเก็บข้อมูลมาประมวลผล ก่อนงัดเอาทักษะที่มีอยู่ในตัวมาใช้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และสามารถชี้ขาดว่าจะผ่านไปได้โดยปลอดภัย หรือทั้งคนและรถจะต้องนอนแอ้งแม้งอยู่ข้างทาง

การใช้แรงหน่วงจากเครื่องยนต์ หรือ ENGINE BRAKE ในขณะลงจากทางลาดชัน เป็นอีกวิธีที่ควรจำไว้ ซึ่งก่อนลงมา ควรตรวจสอบสภาพเส้นทางให้ดี จากนั้นเลือกระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ มาที่ 4L และค่อยๆ ขับลงมาด้วยความเร็วต่ำเป็นพิเศษ ไม่ว่าสภาพของเส้นทางจะเปียกหรือเต็มไปด้วยโคลน หลีกเลี่ยงการใช้เบรก และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเครื่องยนต์ และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ 4L ในการนำคุณและตัวรถค่อยๆ กลับลงมาสู่พื้นราบอย่างปลอดภัยด้วยความเร็วต่ำ เทคนิคเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยากในการปฏิบัติ ถ้าทำได้ นอกจากจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยแล้ว ยังทำให้การผจญภัยแบบขึ้นเขาลงห้วยบนตัวลุยคู่ใจของคุณ มีความสนุกสนานเร้าใจมากขึ้น

ขอแนะนำว่าให้หลีกเลี่ยงการเร่งเครื่องจนล้อหมุนฟรี ยกเว้นขณะจำเป็นจริงๆ เช่นติดอยู่ในบ่อโคลนที่จำเป็นต้องสลัดโคลนออกจากดอกยาง แต่ในทางกลับกันหล่มโคลนบางแห่งต้องใจเย็น ค่อยๆ ไต่ขึ้นมา อีกเหมือนกัน เรื่องแบบนี้จึงต้องวิเคราะห์กันเป็นกรณีไป

เมื่อออกจากป่า รีบทำความสะอาดรถให้เร็วที่สุด ไม่ต้องเก็บร่องรอยการผจญภัยไปอวดใคร เพราะโคลนที่ติดอยู่กับชิ้นส่วนของรถที่เป็นโลหะนั้น จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดสนิมได้อย่างดี
อย่าลืมว่า เส้นทางตามธรรมชาติหลายแห่งมีความโหดชนิดไม่สามารถผ่านได้เลยหากปราศจากเชือกกระตุกหรือวินช์ และหลังจากเดินสำรวจสภาพเส้นทางแล้ว คิดให้ถี่ถ้วนก่อนเริ่มต้นสยบวิบาก หากเส้นทางดูยากและเกิดความไม่มั่นใจว่าจะผ่านไปได้ (โดยไม่เกิดอะไรขึ้น) ก็ขอแนะนำให้กลับมาใช้คำว่า "ปลอดภัย" สยบกับความอยากที่ต้องการขับรถผ่านให้ได้ แล้วตลอดทั้งทริปจะมีแต่ความสนุกสนาน

 


teentoa.com ขอขอบคุณ
บทความโดย ไลฟ์แอนด์ออลวีลไดรฟ์
เรียบเรียง ตีนโต ดอทคอม


article [last update 28-09-07]


 
Copyright @ 2005 / Web Designed by : teentoa / Since : 24 April 2006
All Right Reserved, Contact us : webmaster@teentoa.com นายตีนโต 08949-09005