article [last update 31-10-07] อ่าน

แก้โอเวอร์ฮีต ด้วยน้ำฉีดกระจก


หลายครั้งบนเส้นทางออฟโรด ที่เราไม่สามารถคาดการณ์สภาพเส้นทางเบื้องหน้าได้ แม้จะเป็นเส้นทางที่เคยผ่านมาแล้วก็ตาม โดยเฉพาะหน้าฝนแบบนี้ แบบขาไปกับขากลับก็ต่างกันแล้ว

ผมเชื่อว่าหลายท่านต้องเคยพบกับเส้นทางบางช่วงเป็นลำธารขวางหน้า ซึ่งก็มีหลายรูปแบบตั้งแต่ทรายร่วนๆ จนถึงปลักโคลน หากเป็นพวกน้ำ กับทรายร่วนๆ ก็มักจะมีผลในภายหลังกับพวกลูกปืนล้อ หรือซีล รวมถึงความเสียหายจากการที่น้ำเล็ดลอดเข้าไประบบหล่อลื่นต่างๆ ทั้งเครื่องยนต์ เกียร์ เพลา กว่าจะรู้สึกได้ก็มักเป็นช่วงที่เดินทางกลับกันแล้ว แต่ยังสามารถลดหรือป้องกันความเสียหายได้ หากกลับมาแล้วรีบเปลี่ยนถ่ายระบบของเหลว หรือทำความสะอาดทันที แต่สำหรับพวกโคลนที่ผสมผสานไปด้วยใบไม้และเศษหญ้านั้น แม้จะไม่สร้างปัญหาหนักเหมือนรายการที่ผ่านมา แต่ก็มีผลทางอ้อมที่ส่งผลกระทบไม่น้อยกว่ากัน

ปัญหาจากปลักโคลนพวกนี้ก็คือ ในช่วงที่ลุยลงไปนั้น อุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่เบื้องหน้าไม่ว่าจะเป็นรังผึ้งหม้อน้ำ ,แผงระบายความร้อนระบบแอร์, อินเตอร์คูลเลอร์ หรือบางทีอาจเป็นระบบระบายความร้อนของเกียร์อัตโนมัติ อย่างพวกออยล์คูลเลอร์ ล้วนแล้วแต่เป็นตัวดักเอาเศษใบไม้เน่า เศษใบหญ้า และโคลนตมไว้เต็มที่ โดยเฉพาะคันแรกที่ลงไปในเส้นทางนี้แล้ว ดูเหมือนจะเป็นคันที่รับเต็มๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากเดินทางต่อไปสักพักจะพบว่าหัวขบวนหรือคันแรกจะต้องจอดกลางทาง ดับเครื่องยนต์ ลงมาเปิดฝากระโปรงพร้อมกับทำหน้า เซ็งๆ บอกเพื่อนร่วมทางว่า “โอเวอร์ฮีตว่ะ”

ก่อนพูดถึงวิธีการแก้ไขมาว่ากันที่สาเหตุก่อนครับ ซึ่งก็แน่นอนว่า อุปกรณ์ที่ผมว่ามาข้างต้นนั้นล้วนแล้วแต่มีหน้าที่ระบายความร้อนเป็นหลัก เพราะฉะนั้นตัวมันเองจึงมีความร้อนสูงสะสมอยู่ตลอดเวลา เมื่อเจอกับโคลนเลนที่สะสมแทรกซึมเข้าไปตามร่องเล็กๆ ซึ่งปกติร่องเล็กพวกนี้จะทำหน้าที่ระบายความร้อนของอุปกรณ์นั้นๆ คราวนี้ก็เลยก็ทำให้ความชื้นและน้ำที่อยู่ในโคลนเลนระเหยหายไปในเวลาอันรวดเร็ว จนกลายเป็นเครื่องปั้นดินเผาโอท็อป 5 ดาว พอกติดอย่างแน่นหนา ความร้อนทั้งหลายจึงไม่สามารถระบายออกไปได้ เข็มมาตรวัดความร้อนก็เลยขยับตัวขึ้นเรื่อยจนใกล้ขีดแดง คราวนี้หากผู้ขับรถไม่สังเกตก็เป็นว่าจบข่าว ต้องเสียเงินกันอีกหลายบาท แถมยังเป็นปัญหาอีกว่าจะเอารถออกไปซ่อมได้อย่างไร แต่หากโชคดีเป็นคนช่างสังเกตพบว่าความร้อนเริ่มขึ้นสูงผิดปกติ รีบดับเครื่องลงมาดู คราวนี้ก็เป็นวิธีแก้ไขกันครับ

อันดับแรกหลังจากดับเครื่องยนต์เรียบร้อย ก็คือเปิดฝากระโปรงเพื่อระบายความร้อน ระหว่างรอให้เครื่องยนต์เย็นลงก็สังเกตดูว่ามีความผิดปกติอะไรบ้าง แน่นอนว่าในสถานการณ์เช่นนี้ น้ำในระบบระบายความร้อนก็ยังไม่พร่องลงไปนัก แต่ที่มักพบก็คือโคลนแห้งหรือเครื่องปั้นดินเผาโอท็อปเกาะติดอยู่กับแผงของหม้อน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้หม้อน้ำไม่สามารถระบายความร้อนได้

เมื่อเครื่องยนต์เย็นลงได้ที่ก็ค่อยๆ เอาไม้เขี่ยให้โคลนแห้งเหล่านั้นหลุดออกให้ได้มากที่สุด ส่วนมากจำเป็นต้องถอดกระจังหน้าออกด้วย แต่ก็ยังมีอีกหลายคันเชื่อว่าแม้ถอดกระจังหน้าแล้วก็ยังไม่สามารถเขี่ยให้โคลนแห้งหลุดออกไปได้หมด เพราะยังติดพวกตัวช่วยต่างๆ ทั้งกันชนที่ติดตั้งเข้าไปใหม่ วินช์ สปอตไลท์ รวมถึงอะไรต่อมิอะไรอีกแล้วแต่จะขนกันไป

แม้จะขจัดโคลนเจ้าปัญหาไปได้เยอะแล้วแต่อย่าเพิ่งคิดว่าจะไปได้ต่อเลยนะครับ เพราะในร่องเล็กๆ ของครีบหม้อน้ำที่เราเรียกกันว่ารังผึ้งยังเป็นตัวกักเก็บโคลนไว้ ทำให้ลมไม่สามารถผ่านไประบายความร้อนได้ หากขับต่อไปอย่างไรก็ต้องความร้อนขึ้นจนต้องจอดอยู่ดี ทางที่ดีที่สุดคือต้องล้างโคลนออกจากช่องรังผึ้งให้ได้มากที่สุด ในสถานการณ์เช่นนี้หากมีเครื่องอัดฉีดหรือก๊อกน้ำแรงๆ เสียเวลาแค่นาทีหรือ 2 นาทีรับรองไปได้ต่อฉลุย แต่หากเป็นในสถานการณ์ที่อยู่กลางป่าทั้งยังห่างจากแหล่งน้ำเช่นนี้ก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไปครับ

เท่าที่สำรวจดูรถในขบวนก็เห็นมีเพียง "น้ำฉีดกระจก" เท่านั้น ที่เป็นแหล่งน้ำให้พึ่งพาได้ ว่าแล้วก็เลาะเอาสายท่อน้ำฉีดกระจกจากให้ห้องเครื่องออกมา แต่ก็ยังยาวไม่พอถึงหน้าหม้อน้ำครับ งานนี้ก็ต้องอาศัยจากรถเพื่อนในขบวนกันอีกจากสักคันก็เพียงพอ ตัวต่อสายยางก็ใช้ข้อต่อตัวแยกรูปตัว T ของสายยางฉีดกระจกนั่นล่ะครับ เอาเศษไม้อุดรูของข้อต่อตัวแยกรูที่ไม่ได้ใช้ซะ 1 รู จากนั้นดึงตัวฉีดน้ำที่อยู่บนฝากระโปรงออกมาแล้วเสียบไว้ที่ปลายสายยาง ใช้กิ่งไม้หรือกิ่งไม้ขนาดเล็กๆ ผูกติดกับปลายสายยางช่วงที่มีตัวฉีดน้ำจากกระจกติดอยู่ จากนั้นก็สอดปลายไม้ไปยังช่องรังผึ้งต่างๆ ที่มีโคลนติดอยู่

งานนี้ต้องใช้ผู้ช่วยครับ ให้เพื่อนอีกคนอยู่ในรถฟังสัญญาณกดปุ่มฉีดน้ำเป็นช่วงๆ แรงน้ำที่ออกมาจากตัวฉีดกระจกมีความแรงเพียงพอจะชะล้างให้โคลนพวกนี้หลุดออกไปได้ครับ ใจเย็นๆ ฉีดไปเรื่อยๆ พร้อมกับคอยเติมน้ำในถังเก็บอย่าให้หมด ระวังความร้อนจากไอน้ำที่จะพุ่งขึ้นมาด้วยครับ ล้างจนคิดว่าสะอาดเพียงพอจะไม่โอเวอร์ฮีตอีก แล้วค่อยถอดเก็บสิ่งที่ถอดมาประกอบเข้าที่ แล้วเดินทางต่อครับ

หากพบแหล่งน้ำอีก คราวนี้หากระป๋องหรือภาชนะอะไรตักสาดเข้าไปที่หม้อน้ำอีกครั้งเพื่อล้างโคลนออกให้สะอาดยิ่งขึ้น และหากน้ำลึกพอจะขับลงไปเพื่อให้แรงน้ำชะล้างโคลนออกก็จัดการได้เลยครับ แต่ต้องระวังอย่าให้แรงจนทำความเสียหายกับอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ และดูด้วยว่าอย่าให้มีโคลนหรือเศษใบไม้ใบหญ้าเข้าไปติดอีก ไม่งั้นเดี๋ยวจะต้องฉายหนังซ้ำกันอีกรอบ

 


teentoa.com ขอขอบคุณ
บทความโดย ไลฟ์แอนด์ออลวีลไดรฟ์
เรียบเรียง ตีนโต ดอทคอม


article [last update 31-10-07]


 
Copyright @ 2005 / Web Designed by : teentoa / Since : 24 April 2006
All Right Reserved, Contact us : webmaster@teentoa.com นายตีนโต 08949-09005