article [last update 20-06-08] อ่าน

เกียร์อัตโนมัติ (2)

สัปดาห์ที่ผ่านมาผมเขียนเรื่องราวของเกียร์อัตโนมัติไปบ้างแล้ว สัปดาห์นี้ผมขอนำเรื่องเกียร์อัตโนมัติมาเล่ากันต่อถึงการใช้งานที่ถูกวิธี เพื่อการประหยัดและปลอดภัยทั้งผู้ใช้งานและผู้อื่นที่อยู่ใกล้เคียง เพราะในระยะเวลาที่ผ่านมาเรามีข่าวคราวอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากเกียร์อัตโนมัติบ่อยครั้ง

และแต่ละครั้งสังคมก็ตื่นตระหนกกันจ้าละหวั่น มีการตีความหรือทำความเข้าใจในเรื่องของเกียร์อัตโนมัติไปคนละทิศคนละทาง ส่วนใหญ่มักจะตะขิดตะขวงใจคิดว่าเป็นความบกพร่องของเกียร์ ทั้งที่จากการตรวจสอบกันอย่างจริงจังเกือบทั้งหมดพบว่า เกิดจากความไม่เข้าใจถึงระบบการทำงานของเกียร์จากผู้ใช้เอง หรือเกิดจากการใช้เกียร์ผิดวิธีนั่นเอง

ย้อนกลับไปที่การเริ่มต้นสตาร์ทสำหรับรถเกียร์อัตโนมัติเพื่อความปลอดภัย ขอย้ำว่าเกียร์ต้องอยู่ในตำแหน่ง P เท่านั้น เบรกมือต้องอยู่ในตำแหน่งถูกดึงขึ้นมาจนสุด เท้าต้องกดที่แป้นเบรกให้เต็มที่ จึงจะเริ่มสตาร์ทรถได้ อย่าข้ามหรือยกเลิกขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งไปเป็นอันขาด แม้ว่าคุณจะสามารถติดเครื่องยนต์ได้ก็ตาม ให้ฝึกไว้จนเป็นนิสัยเคยชิน

เกียร์อัตโนมัติในปัจจุบันนี้มีการทำงานที่หลากหลาย หากจะแบ่งตามลักษณะกลไกภายในห้องเกียร์ก็จะมีเกียร์อัตโนมัติอยู่ 2 แบบ คือเกียร์อัตโนมัติที่ใช้เฟืองเป็นตัวทดกำลัง และเกียร์อัตโนมัติที่ใช้สายพานกับแท่งรูปกรวยเป็นตัวถ่ายทอดกำลัง โดยอย่างแรกพบได้ทั่วไปในเกียร์ส่วนมาก อย่างหลังเริ่มจะมีการผลิตมากขึ้นในรถขนาดเล็กที่มีกำลังไม่สูงมากนัก เรียกกันว่าเกียร์แบบ "ซีวีที"

วัตถุประสงค์ของการเกิดขึ้นมาสำหรับเกียร์แบบ ซีวีที เพื่อต้องการลดอาการกระตุกขณะที่เกียร์เปลี่ยนอัตราทด ต้องการลดน้ำหนักของชิ้นส่วนในระบบเกียร์ และต้องการให้มีอัตราทดที่ต่อเนื่องไหลลื่น อันจะส่งผลให้มีการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงในอัตราต่ำ

ข้อเสียของเกียร์แบบ ซีวีที คือ มีความทนทานน้อยกว่าเกียร์แบบเฟืองมาตรฐานดั้งเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เป็นสายพานขับเคลื่อน แม้ว่าจะเป็นสายพานที่มีส่วนผสมของโลหะเพื่อเพิ่มความทนทานแล้วก็ตาม แต่เมื่อโดนแรงกระชากกระตุกไปกระตุกมาบ่อยๆ โอกาสที่สายพานจะยืดหรือหย่อนยานก็มีมากกว่าเฟือง

สังเกตได้ว่าเกียร์แบบ ซีวีที มักจะได้รับการติดตั้งในรถขนาดเล็กที่มีกำลังเครื่องยนต์มาสูงมากนัก และส่วนใหญ่เป็นรถที่มีวัตถุประสงค์ผลิตขึ้นมาเพื่อให้ใช้ในเมืองที่มีการจราจรติดขัด ต้องมีการเปลี่ยนอัตราทดเกียร์บ่อยๆ เพราะในกรณีเช่นนี้หากใช้เกียร์ชนิดเฟือง การที่ต้องจอดๆ ติดๆ เคลื่อนที่ไปได้ระยะทางไม่ไกลเกียร์เปลี่ยนไปแล้วก็ต้องเบรกเพราะปัญหาการจราจรติดขัด เกียร์แบบเฟืองที่เปลี่ยนไปมาบ่อยๆ จะเกิดการสึกหรอสูง น้ำมันเกียร์มีความร้อนสูงง่าย เกียร์แบบ ซีวีที จึงเหมาะสมกับสภาพการใช้งานในลักษณะดังกล่าวมากกว่า

ส่วนผู้ขับรถที่ต้องการความมันในอารมณ์ ด้วยลักษณะการขับแบบสปอร์ต ขอแนะนำว่าให้เลือกใช้รถเกียร์อัตโนมัติแบบเฟืองจะเหมาะสมกว่า เพราะหากเลือกใช้เกียร์แบบ ซีวีที จะมีการสึกหรอที่สูง และต้องเสียค่าซ่อมบำรุงแพง

ในทำนองเดียวกันสำหรับผู้ที่เลือกซื้อรถเกียร์อัตโนมัติแบบ ซีวีที ไปใช้งาน แม้ว่าผู้ผลิตจะมีระบบการทำงานให้เลือก เช่นมีการเปลี่ยนจังหวะอัตราทดด้วยการควบคุมโดยไฟฟ้า ก็ขอแนะนำว่าอย่าไปใช้ระบบการเปลี่ยนแบบนั้นบ่อยครั้ง เพราะได้บอกแล้วว่าเกียร์ ซีวีที นั้นเกิดมาเพื่อความนุ่มนวลและความสะดวกสบาย มากกว่าความสนุกสนานด้วยอารมณ์การขับแบบสปอร์ต

เมื่อเลือกใช้รถแบบเกียร์อัตโนมัติกันทั้งที ก็ต้องรู้ว่าเกียร์อัตโนมัตินั้นต้องมีระยะเวลาหรือระยะทางใช้งานเป็นตัวกำหนดให้ต้องดูแล เช่นต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์ตามระยะทาง ส่วนใหญ่ก็จะกำหนดเอาไว้ว่าไม่เกิน 3 หมื่น กม. ต่อการเปลี่ยนถ่าย 1 ครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เป็นเจ้าของรถต้องศึกษาจากสมุดคู่มือและปฏิบัติตาม เพื่อที่เกียร์อัตโนมัติของท่านจะได้มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น

หากผู้ขับรถได้เรียนรู้ระบบการทำงานของเกียร์อัตโนมัติอย่างละเอียดแล้ว จะพบว่าเกียร์อัตโนมัติไม่ได้ใช้งานยุ่งยากอย่างที่คิด ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เกียร์ที่เพียงแค่โยกคันเกียร์ไปที่ตำแหน่ง D แล้วจะทำทุกอย่างได้หมด ยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่แตกต่างกันไปตามแต่วิศวกรผู้ผลิตเกียร์จะประดิษฐ์กันขึ้นมา เพื่อช่วยให้การขับขี่เป็นไปได้ง่ายขึ้นและปลอดภัยมากขึ้น

แต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่ผู้ขับขี่ต้องทำความเข้าใจเกียร์อัตโนมัติในรถของท่านให้ถ่องแท้ อุบัติเหตุจากเกียร์อัตโนมัติก็จะหมดไป และการใช้รถเกียร์อัตโนมัติก็จะได้รับความสนุกสนานมากขึ้น แทนที่จะได้เพียงแค่ความสบายอย่างเดียวอย่างที่คิดกันไว้ครับ

 

 


teentoa.com ขอขอบคุณ
บทความโดย ออโต้ คลีนิค
เรียบเรียง ตีนโต ดอทคอม


article [last update 20-06-08] อ่าน


 
Copyright @ 2005 / Web Designed by : teentoa / Since : 24 April 2006
All Right Reserved, Contact us : webmaster@teentoa.com นายตีนโต 08949-09005