article [last update 14-06-06] อ่าน

ไฮ - ลิฟท์แจ็ค แม่แรงสารพัดประโยชน์

การท่องเที่ยวไปในเส้นทางทุรกันดารหรือที่มักเรียกกันว่าเส้นทางแบบออฟโรดนั้น หลายต่อหลายครั้งจำเป็นต้องพึ่งตัวช่วยหลากหลายรูปแบบแล้วแต่สถานการณ์ บางครั้งตัวช่วย ที่ทำให้ผ่านไปได้สะดวกที่สุด ก็อาจมิใช่ตัวช่วยที่ถูกต้องเสมอไป เช่นการใช้โซ่พันล้อเพื่อช่วยในการตะกุย แน่นอนว่าการทำแบบนี้ทำให้คุณผ่านอุปสรรคไปได้ง่ายๆ แต่ในอีกมุมหนึ่งการใช้โซ่พันล้อก็ทำให้เส้นทางนั้นเสียหายมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับผู้อื่นที่จำเป็นต้องสัญจรตามหลังมา

เส้นทางที่ผ่านการใช้โซ่พันล้อแล้วมักมีสภาพถูกตะกุยจนเละคล้ายใช้จอบพันลงไปตลอด หากรถยนต์ที่ใช้ยางดอกไม่หนานัก กระทั่งยางมัดเทอเรนทั่วไปบางครั้งเจอทางแบบนี้ก็ต้องกุมขมับเอาเหมือนกัน

สำหรับบางคน การติดตั้งวินช์เพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินก็ดูเป็นเรื่องเกินความจำเป็น เพราะมิใช่เพียงแค่มีวินช์ตัวเดียวจับยัดไปก็เรียบร้อย เพราะการติดตั้งวินช์ยังต้องมีองค์ประกอบต่างๆ อีกมากมายไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งถาดหรือกันชนที่ใช้กับวินช์ ซึ่งมีผลต่อน้ำหนักรถช่วงหน้าที่ทำให้ยุบลงไปอีกเยอะ คราวนี้เลยต้องเดือดร้อนเซตช่วงล่างกันใหม่อีกหลายเงิน แถมบางคนยังบอกว่าเข้าป่ากันปีละหนสองหนลงทุนกันหลักหลายๆ หมื่นแบบนี้เห็นที่จะไม่คุ้ม อีกทั้งตัวลุยนี้ยังต้องเป็นพาหนะที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ร่วมกับผู้บัญชาการขั้นสูงสุดที่บ้านที่ลงมติล่วงมาหน้ามาแล้วว่าห้ามติดวินช์อย่างเด็ดขาด เพราะไม่อยากให้ดูเป็นหญิงแกร่งเกินไปนักเวลาเอาเจ้าตัวลุยมาใช้ แต่เมื่อใจรักจะลุยทั้งที ผมมีทางออกมาให้ครับ ด้วยอุปกรณ์สารพัดประโยชน์อย่าง “ไฮ-ลิฟท์แจ็ค” หรือแม่แรงไฮ-ลิฟท์ ซึ่งเมื่อต้องการเข้าไปในเส้นทางออฟโรดก็สามารถเอาติดตัวไปได้ไม่ว่าจะเป็นการล็อกเข้ากับแร็คหลังคา, กันชน หรือเก็บไว้ในกระบะท้าย เวลาไม่ใช้ก็เชิญไปเก็บไว้นิ่งๆ ในห้องเก็บของ

ถึงจะเรียกว่าแม่แรง แต่การทำงานของไฮ-ลิฟท์ ก็ไม่เหมือนกับแม่แรงทั่วไปที่ใช้ระบบน้ำมันไฮโดรลิคหรือหมุนเกลียวยกขึ้น เพราะไฮ-ลิฟท์จะทำงานด้วยหลักของคานดีดคานงัดและมีสปริงเป็นตัวล็อก และที่เรียกกันว่าไฮ-ลิฟท์ หรือแปรตรงตัวว่ายกสูงก็เพราะแม่แรงทั่วไปกระทั่งแบบ 3 ตัน ที่ใช้กันตามอู่นั้นก็ยังยกได้ประมาณ 20 นิ้วเท่านั้น ส่วนแม่แรงแถมพร้อมเครื่องมือติดรถมาว่ากันที่ 6 นิ้ว ก็เล่นเอาลิ้นห้อยแล้วครับ แล้วยังไปเจอดินแบบเละเทะเข้าอีกแทนที่รถจะลอยขึ้นกลายเป็นแม่แรงจมลงไปในพื้นแทนอีก ส่วนแม่แรงไฮ-ลิฟท์นั้นว่ากันเริ่มต้นที่ 48 นิ้วและ 60 นิ้วครับ แล้วยังใช้แรงและเวลาน้อยกว่ากันเยอะ

การใช้งานของไฮ-ลิฟท์ เท่าที่ใช้กันป่าเวลาลืมดูตาม้าตาเรือ ร่วงลงไปในหลุมปลักขนาดใหญ่แล้วดิ้นปั่นล้อจนแน่ใจว่าหมดหนทางแล้ว 100% ถ้ามีวินช์ติดมาก็ยังโชคดีไปบ้าง แต่บ้างครั้งคนเราก็อาจต้องเจอเรื่องโชคร้ายยกกำลังสอง เพราะบางสถานการณ์ถึงมีวินช์ก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะไม่มีหลักวินช์ จะลงทุนขุดหลุมฝังยางอะไหล่ทำหลักวินช์ แต่เมื่อดูฮวงจุ้ยแล้วพบว่าดินเละเหลือเกิน ดึงกันไปดึงกันมาจะกลายเป็นยางอะไหล่พุ่งเข้าหารถแทน งานนี้เลยครับmuj ไฮ-ลิฟท์ รับบทพระเอกไปเต็มๆ

ข้อสำคัญในการใช้งานอุปกรณ์ประเภทนี้ก็คือ บริเวณที่จะเป็นจุดยกต้องแน่ใจว่าสามารถรับน้ำหนักส่วนใหญ่ของรถเกือบทั้งหมดได้ มิเช่นนั้นค่าซ่อมตัวรถอันเกิดจากการใช้งานผิดประเภทแบบนี้หลายเงินนะครับ

การใช้งานก็คล้ายแม่แรงครับ มีจุดยกรอบตัวรถแล้วโยกคานงัด เพื่อให้ตัวรถสูงขึ้น ไม่ต้องกลัวครับว่าตัวไฮ-ลิฟท์จะจมลงไปในพื้น เพราะจะมีอุปกรณ์พ่วงอย่างแผ่นรองฐาน 4 เหลี่ยมมาให้เพื่อป้องกันจมลงไปในพื้นโคลน เมื่อตัวรถลอยขึ้นเท่าที่ต้องการแล้วมี 2 ทางเลือกครับ นั่นคือหาขอนไม้ ก้อนหิน หรือวัสดุที่ทำให้เกิดความเสียดทานยัดลงไปในหลุมเพื่อมิให้ล้อหมุนฟรี ทำให้รถสามารถเคลื่อนที่ออกไปได้

อีกวิธีก็คือเมื่อรถลอยขึ้นจากหลุมสูงมากๆ หน่อย ก็รวบรวมเพื่อร่วมชะตากรรม 3-4 คน ช่วยกันผลักรถออกด้านข้าง เพื่อให้ล้อพ้นจากตำแหน่งเดิม พร้อมกับเคลื่อนรถให้ออกไป แต่วิธีนี้ต้องระวังครับ เพราะตอนที่รถเปลี่ยนตำแหน่งนั้นตัวไฮ-ลิฟท์ ที่เราคำนวณไว้แต่แรกว่าน่าจะล้มลงไปกับพื้นง่ายๆ ไม่มีอะไร กลับสำแดงพิษสงดีดออกมากได้รอบด้านแบบเดาทิศทางไม่ถูก โชคดีไม่โดนคนแต่โชคร้ายไปฟาดเอากรอบไฟส่องป้ายทะเบียนของเจ้าอินเดียนแก่ตัวลุยคันเก่งของผม ออกมาจากป่าเช็คราคาอะไหล่แทบสะดุ้งโหยง กรอบพลาสติกใสขนาดเท่ากล่องไม้ขีดไฟตราพญานาคอันละร่วม 2,000 บาท ... สรุปว่าสว่างแบบไร้กรอบไปอย่างนั้นก่อนเถอะเพื่อน

นอกจากยกรถแล้ว ไฮ-ลิฟท์ยังใช้งานอเนกประสงค์อีกเพียบครับ ไม่ว่าจะใช้แทนวินช์ ด้วยการเพิ่มอุปกรณ์เสริมอย่างเชือก, โซ่ หรือสลิงเข้าไป โดยทำเป็นห่วงคล้องเข้าที่ฐานไฮ-ลิฟท์ และอีกด้านคล้องกับต้นไม้ ส่วนอีกด้านคล้องกับตัวยกของไฮ-ลิฟท์ โดยที่ปลายยึดกับตัวรถ ทั้งนี้ไฮ-ลิฟท์ ต้องอยู่ในสภาพยืดออกสุดนะครับ จากนั้นจึงโยกกลับมา เพื่อลดระยะจากปลายทั้ง 2 ด้าน ตัวรถก็จะเคลื่อนจากหล่มได้

นอกจากนี้สำหรับแฟนออฟโรดแบบฮาร์ดคอร์ เจ้าอุปกรณ์ตัวนี้ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้อีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการยึดล็อกท่อนซุงเพื่อทำสะพาน หรือใช้กู้ภัยในบางสถานการณ์ สมัยก่อน อุปกรณ์แบบนี้ราคาตัวละประมาณ 4,000 บาท แต่เดี๋ยวนี้เห็นประกาศขายเป็นของมือสองกันเหลือตัวละพันนิดหน่อย น่าหาซื้อเก็บไว้ครับ ของแบบนี้ได้ใช้ครั้งเดียวก็คุ้มแล้ว


teentoa.com ขอขอบคุณ
บทความโดย ไลฟ์แอนด์ออลวีลไดรฟ์
เรียบเรียง ตีนโต ดอทคอม


 

article [last update 14-06-06]


 
Copyright @ 2005 / Web Designed by : teentoa / Since : 24 April 2006
All Right Reserved, Contact us : teentoa@yahoo.com