article [last update 22-06-06] อ่าน

เลือกแร็ค... ไว้ใส่หลังคา

หนึ่งในเฟอร์นิเจอร์ยอดนิยมของขาลุยทั้งหลายที่เห็นกันได้ชัดเจน นอกจากกันชนก็เห็นจะเป็นรูฟแร็ค หรือแร็คหลังคาที่เอาไว้ขนสัมภาระต่างๆ เวลาเดินทางออกทริปรวมถึงส่วนหนึ่งที่เอาไว้เป็นเฟอร์นิเจอร์เสริมให้ดูขลัง ประมาณว่าเหมือนเหรียญเกียรติยศ หลังผ่านสงครามมานั่นเอง

ความนิยมของอุปกรณ์ชิ้นนี้ น่าจะจัดอันดับเข้าประเภทอุปกรณ์ยอดนิยมได้เหมือนกัน เพราะกระทั่งรถกระบะที่มีพื้นที่บรรทุกสัมภาระได้มากมาย ก็ยังเห็นติดกันเกลื่อนเมือง ทั้งที่ความจริงแล้วจุดกำเนิดของอุปกรณ์ชิ้นนี้ก็คือไว้สำหรับบรรทุกพวกสัมภาระชิ้นใหญ่ สำหรับเวลาเดินทางไปพักผ่อนอย่างเช่น เรือแคนู หรือคายัค, จักรยานเมาเทนไบค์ ที่สามารถใส่ในกระบะหลังได้สบาย ส่วนพวกชิ้นใหญ่อย่าง สกี นั้น ที่บ้านเราหากมีใครเหน็บติดหลังคาไป คงเรียกได้ว่าอาการเข้าขั้น

แต่แร็คหลังคาก็มีให้เลือกหลายประเภท ตั้งแต่แบบขายึดปรับระยะความห่างและปรับตามความกว้างของหลังคารถได้ แบบนี้เป็นแบบที่เราพบเห็นกันทั่วไป มีตั้งแต่แจกแถมกันฟรีๆ จนถึงราคาเป็นหมื่นบาท โดยมากมักเป็นอะลูมิเนียม ยึดเข้ากันด้วยนอตขนาดเล็กๆ แล้วคราวนี้ไอ้แบบแถมฟรีก็เคยสร้างวีรกรรมคาตามาแล้ว เพราะเพื่อนร่วมทริปคนหนึ่งท่านเลือกใช้แร็คประเภทนี้ แม้เพื่อนฝูงจะทัดทานแล้วก็ตาม

หลังจากเดินทางไปได้ระยะหนึ่ง คราวนี้สุภาษิตที่ว่า "ของถูกและดีอาจจะมีบ้างแต่ของแพงมักจะดี” ก็เริ่มถูกพิสูจน์ว่ายังใช้ได้เสมอ เพราะชิ้นส่วนพลาสติกจากแร็คที่ว่า เมื่อถูกลมปะทะด้วยความเร็วสูงก็เริ่มแตกตัวออกเป็นชิ้นส่วนลึกลับจากฟากฟ้า ปลิวออกมาทีละชิ้นสองชิ้นเป็นระยะ จนในที่สุดต้องเสียเวลามาซ่อมแซมกันกลางทาง กระทั่งผ่านเข้าเขตพื้นที่แบบออฟโรดเต็มพิกัด ทั้งหลุมร่องเอียงหน้าหลังทุกรูปแบบ กระแทกกระทั้นกันตลอด ชะรอยวัสดุที่ใช้คุณภาพคงตามราคา จนในที่สุดแค่กิ่งไม้เท่าข้อมือเด็ก ก็งัดเอาแร็คทั้งแผงร่วงลงจากหลังคารถทั้งกะบิ ....

แร็คอีกแบบที่นิยมใช้กันก็คือแบบ "เฮฟวี่ ดิวตี้" ซึ่งก็มีทั้งคล้ายแบบแรก แต่คุณภาพของวัสดุและการยึดกับร่องรางน้ำฝนคุณภาพสูงกว่ามาก แต่ที่นิยมกันมากคือ "แบบเชื่อมขึ้นรูป" ทั้งจากอะลูมิเนียม น้ำหนักเบา ยกคนเดียวได้ และแบบเชื่อมขึ้นรูปจากแป๊บเหล็กบาง ที่หนักขึ้นมาก จะติดตั้งแต่ละทีต้องหาคนช่วย แต่รองรับการใช้งานได้เต็มร้อย แร็คแบบนี้จะออกแบบมาตรงรุ่น ทั้งขนาดและตำแหน่งของขายึด ที่ต้องตรงกับจุดของรถแต่ละรุ่นที่จะมีเหล็กเสริมรับแรงไว้

หากคุณจำเป็นต้องติดตั้งแร็คแบบถาวรเพราะต้องบรรทุกสัมภาระชิ้นใหญ่บ่อยครั้ง จุดที่ควรพิจารณาก็คือ รูปทรงของแร็ค โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้ความเร็วสูง เสียงจากการต้านลมทำเอาฟังวิทยุไม่รู้ได้เลยทีเดียว รวมถึงความสูงของขาแร็คที่ต้องออกแบบมาให้พอดี ไม่สูงเกินไป จนอาจเป็นปัญหาเมื่อใช้งานจริง

เมื่อจำเป็นต้องใช้งานจริงบรรทุกสัมภาระที่มีน้ำหนักมาก การใช้แร็คที่มีจำนวนขายึดมากกว่าข้างละ 2 ขา นับเป็นเรื่องจำเป็น เพราะจะได้กระจายจุดรับน้ำหนักที่ถ่ายทอดลงบนหลังคารถ สู่เสาหลังคาได้

แต่เมื่อใช้แร็คแบบมีหลายขาแล้วก็อย่าเพิ่งคิดว่า จะสามารถบรรทุกได้เต็มพิกัดแบกกันเต็มเหยียดเหมือนสิบล้อ เพราะเสาหลังคาก็ออกแบบไว้ให้รับน้ำหนักได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น รวมประมาณ 60-80 กิโลกรัม หากมากกว่านั้นก็เริ่มจากเสาหลังอาจโก่ง กระจกอาจร้าว ประตูรถเปิด-ปิดไม่สนิท น้ำซึมเข้าได้

เมื่อบรรทุกสัมภาระแล้วอย่าลืมว่ารถของคุณจะต้านลมมากขึ้นทุกทิศทาง รวมถึงจุดศูนย์ถ่วงของรถก็เพิ่มมากขึ้นด้วย เพราะทุกอย่างย่อมมีทั้งข้อดีและข้อด้วยเสมอ อยู่ที่คุณรู้จักเลือกใช้งานอย่างระมัดระวังนั่นเอง

 


teentoa.com ขอขอบคุณ
บทความโดย ไลฟ์แอนด์ออลวีลไดรฟ์
เรียบเรียง ตีนโต ดอทคอม


 

article [last update 22-06-06]


 
Copyright @ 2005 / Web Designed by : teentoa / Since : 24 April 2006
All Right Reserved, Contact us : teentoa@yahoo.com