article [last update 23-08-06] อ่าน

เบรกมือ

เบรก เป็นคำมาจากภาษาต่างประเทศที่คนไทยเราเรียกทับศัพท์จนคุ้นเคย และเกือบทุกขั้นตอนและชิ้นส่วนรวมถึงระบบการทำงานของเบรก ที่เราเรียกทับศัพท์จนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป หลายครั้งที่เรียกย้อนกลับมาเป็นภาษาไทย กลับหาคนเข้าใจได้ยากยิ่งกว่าการเรียกทับศัพท์เสียอีก

"ห้ามล้อ" คือคำภาษาไทยที่เรียกกันอย่างเป็นทางการ เบรกจาน หรือห้ามล้อชนิดจาน คือความหมายของคำว่า ดิสก์เบรก ส่วน ดรัมเบรก ในภาษาไทยเราเรียกว่า เบรกดุม หรือห้ามล้อชนิดดุม แถมยังมีคำว่าเบรกก้ามปูเพิ่มขึ้นมาอีกชนิดหนึ่งด้วยซ้ำ เบรกก้ามปูก็คือเบรกที่เราเห็นกันในรถจักรยานเป็นส่วนใหญ่ ที่ใช้การทำงานโดยมียาง 2 ชิ้นหนีบตัวเข้ามาประกบกับขอบล้อ นั่นละคือเบรกก้ามปู ซึ่งในรถยนต์รุ่นเก่า การทำงานของเบรกมือก็จะทำงานในลักษณะคล้ายกันกับเบรกก้ามปู

มีเบรกชนิดหนึ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกได้ตรงตามการใช้งานมากคือ Parking Brake ซึ่งสามารถแปลได้ว่า ห้ามล้อใช้สำหรับจอดรถ แต่พอมาเป็นภาษาไทยเราเรียกว่าเบรกมือ ซึ่งอาจจะเห็นว่าเป็นเบรกชนิดเดียวในรถยนต์ยุคแรก ที่ใช้มือเป็นตัวสั่งการบังคับให้กลไกทำงาน ในขณะที่เบรกอื่นๆ เช่นเบรกหน้า และ เบรกหลัง ต่างใช้เท้าเป็นตัวเริ่มต้นสั่งการทั้งสิ้น

การเรียก Parking Brake ว่า เบรกมือ นี้เอง ที่ทำให้ผู้ใช้รถส่วนหนึ่งเกิดความสับสนกับหน้าที่การทำงานของเบรกดังกล่าว มีใจความสำคัญว่า ห้ามใช้เบรกมือขณะขับรถ มิฉะนั้นจะเกิดอันตราย ทำไม และจะใช้ได้เมื่อไรถึงไม่เกิดอันตราย และเขามีเบรกมือเอาไว้ทำไม

อันที่จริงเบรกที่เรียกกันว่าเบรกมือนั้น ปัจจุบันนี้ก็ไม่น่าเรียกกันว่าเบรกมือแล้ว เพราะมีเบรกที่ทำหน้าที่แบบเดียวกันในรถยนต์หลายยี่ห้อ ที่ใช้เป็นตัวเริ่มบังคับกลไก ที่เห็นบ่อยหน่อยก็คือรถยนต์เมอร์เซเดสเบนซ์นั่นเอง ที่ใช้เท้าเป็นตัวกดคันบังคับ แต่ยังใช้มือเป็นตัวคลายกลไกอยู่

เบรกมือส่วนใหญ่จะทำหน้าที่หยุดการเลื่อนไถลของรถด้วยการจับล็อกที่เพลากลางหรือที่กลไกเบรกที่ล้อหลัง ดังนั้นหากใช้เบรกมือทำงานขณะที่รถวิ่งอยู่ โอกาสที่รถจะหมุนคว้างเสียการทรงตัวจึงมีมากกว่าการใช้เบรกปกติ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าในขณะที่เหยียบเบรกตามปกตินั้น แม้ว่ากลไกจะไปบังคับให้เบรกทั้ง 4 ล้อทำหน้าที่พร้อมกัน แต่วิศวกรผู้ออกแบบก็ได้กำหนดเอาไว้แล้วว่า เบรกที่ล้อหน้าจะต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเบรกที่ล้อหลัง และเมื่อล้อหน้าทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่า รถก็จะมีอาการหมุนหรือเสียการทรงตัวน้อย

ในภาษาอังกฤษเรียกเบรกมือว่า Parking Brake นั่นหมายถึงว่า เบรกชนิดนี้ให้ใช้งานในขณะที่รถจอดเท่านั้น เป็นการใช้งานเพื่อป้องกันไม่ให้รถเกิดการเคลื่อนที่หรือเลื่อนไหลไปในขณะที่ไม่มีใครอยู่ในรถ หรือในขณะที่ต้องการจอดนั่นเอง โดยเบรกมือที่เราเรียกกันนี้ส่วนใหญ่ใช้สายสลิงเป็นกลไกสำคัญในการเหนี่ยวรั้งกลไก ดังนั้นเมื่อใช้งานไปนานๆ หรือทุกๆ 1 ปี จึงควรให้ช่างทำการปรับตั้งความตึงหย่อนของสายสลิงให้ได้ระดับ เมื่อดึงเบรกมือขึ้นมาจะได้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ

ผู้ขับขี่รถที่ดีจึงควรดึงเบรกมือขึ้นมาทุกครั้งที่จอดรถ ยกเว้นแต่ในกรณีที่ไปจอดรถขวางทางผู้อื่นเท่านั้น แม้แต่การจอดรถขณะติดไฟแดงหรือจอดรถรอการจราจรนานๆ ก็ควรดึงเบรกมือขึ้นมาเพื่อป้องการลื่นไถลทุกครั้งเช่นกัน และในรถยนต์ที่มีคันบังคับเบรกมืออยู่ระหว่างเบาะที่นั่งของผู้ขับและผู้โดยสารตอนหน้า พึงหลีกเลี่ยงการเอาสิ่งของใดๆ ไปวางเกะกะในบริเวณคันบังคับเบรกมือ เพราะอาจจะทำให้คันบังคับเบรกมือถูกปลดลงไม่สุดเมื่อต้องการปลด ทำให้เกิดกรณีเบรกค้างหรือเบรกไหม้ขึ้นมาได้

เมื่อพบว่ามีไฟแสดงสัญญาณเบรกมือติดขึ้นที่หน้าปัด ทั้งที่แน่ใจว่าได้ปลดเบรกมือลงอย่างแน่นอนแล้ว ให้จอดรถให้สนิทแล้วลองดึงและปลดเบรกมือแรงๆ 2-3 ครั้ง เพราะสวิตช์สัญญาณไฟเบรกมืออาจจะค้างได้ แต่หากพบว่าสัญญาณไฟเตือนยังติดอยู่ ก็ให้ตรวจดูที่กระปุกน้ำมันเบรก เพราะรถยนต์หลายยี่ห้อที่ติดตั้งตัววัดสัญญาณไว้ที่กระปุกน้ำมันเบรก เพื่อเป็นตัววัดว่าระดับความหนาของผ้าดิสก์เบรกลดลงจนถึงระดับที่ควรเปลี่ยน ดังนั้นเมื่อผ้าเบรกบางลงมากๆ น้ำมันเบรกจะลดลงเพราะน้ำมันเบรกส่วนหนึ่งจะไหลไปแทนที่ความหนาของผ้าเบรกที่ลดลงไป พอน้ำมันเบรกลดระดับลงไปตัววัดสัญญาณจึงส่งสัญญาณไปให้ไฟเตือนแดงขึ้นนั่นเอง

ส่วนผู้ขับรถที่ดึงเบรกมือขึ้นทุกครั้งที่จอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องจอดรถค้างคืน เช้าขึ้นมาเมื่อสตาร์ทรถและจะนำรถออกไปใช้ หากพบว่ารถมีกำลังน้อยลงเหมือนกับลักษณะของเบรกติดเบรกค้าง หรืออาจจะพบว่าเมื่อเคลื่อนตัวรถไปข้างหน้าแล้วมีเสียงกระแทกเกิดขึ้นที่บริเวณใต้ท้องแถวล้อหลัง นั่นหมายถึงว่าผ้าเบรกของคุณไม่ยอมคลายตัวตามการคลายของคันเบรกมือ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่พบได้ เกิดจากการรัดและหดตัวของผ้าเบรกที่ถูกดึงขึ้นมาใช้งานขณะร้อนและหดตัวลงในตอนกลางคืนที่อากาศเย็น บวกกับผ้าเบรกที่รัดตัวแน่นจนเกิดสุญญากาศระหว่างหน้าสัมผัสผ้าเบรก กับหน้าสัมผัสจานเบรกทำให้คลายตัวออกได้ยาก พบอาการอย่างนี้ก็เพียงแค่ถอยหลังออกตัวแรงๆ ผ้าเบรกก็จะคลายตัวง่ายขึ้น และนำรถไปปรับตั้งสายสลิงเบรกเสียใหม่เท่านั้นเองครับ

 


teentoa.com ขอขอบคุณ
บทความโดย ออโต้คลินิค
เรียบเรียง ตีนโต ดอทคอม


 

article [last update 23-08-06]

 
Copyright @ 2005 / Web Designed by : teentoa / Since : 24 April 2006
All Right Reserved, Contact us : teentoa@yahoo.com