article [last update 17-10-06] อ่าน

คิดจะเที่ยวช่วงฤดูฝน

แม้ว่าจะมีอุปสรรคบ้าง แต่หากมีการเตรียมตัวที่ดี บางครั้งสิ่งที่คิดว่าเป็นอุปสรรคอาจเป็นตัวเสริมให้การเดินทางครั้งนี้ สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นก็ได้ครับ

มาดูกันครับว่าเราน่าจะเตรียมตัวเรื่องอะไรกันบ้าง...
อย่างแรกน่าจะเป็นเรื่องของพยากรณ์อากาศ แน่นอนอยู่แล้วว่าหากจะเดินทางไปเที่ยวไหนก็ควรตรวจสอบพยากรณ์อากาศกันเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นการสอบถามกรมอุตุนิยมวิทยาที่เบอร์สายด่วน 1182 (ผมเชื่อว่าหลายคนไม่ทราบว่ามีบริการด้านนี้กันด้วย) ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นอย่างเรื่องโจ๊ก สมัยก่อนที่ว่าวันไหนมีประกาศว่าฝนตกก็ไม่ต้องเตรียมร่มออกจากบ้าน แต่ถ้าประกาศว่าแดดจัดก็ให้เตรียมร่มเตรียมชุดกันฝนกันได้เลย เพราะเดี๋ยวนี้จากที่เคยใช้บริการมา แม่นยำเชื่อถือได้เลยทีเดียว หรืออีกที่ซึ่งผมนิยมตรวจเช็คเปรียบเทียบกันอีกครั้งก็คือในเวบไซด์ของ www.cnn.com ในลิงค์ของ weather check

บางครั้งแม้ตั้งใจเต็มที่เตรียมตัวมานานว่าจะไปให้ได้ 100% แต่เมื่อพบกับคำเตือนแบบ ระวังโคลนถล่มหรือน้ำป่าไหลหลาก ก็น่าจะเปลี่ยนแผนดีกว่าครับ

รวมถึงหาเบอร์โทรของสถานที่ที่ต้องการจะไป ไม่ว่าจะเป็นที่ทำการอุทยานหรือป่าไม้เขต หรือคนรู้จักในพื้นที่เพื่อสอบถามสภาพล่วงหน้า เป็นการเช็คอีกครั้ง จะได้เตรียมอุปกรณ์ได้ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าเห็นว่าช่วงนี้ฝนไม่ตกแต่ไปถึงปรากฏว่าทางขาดไปตั้งแต่อาทิตย์ที่แล้ว

เมื่ออยากเป็นนักท่องธรรมชาติทั้งทีก็ควรจะหัดศึกษาพฤติกรรมของธรรมชาติไว้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการสังเกตมดขนไข่ย้ายรัง โบราณท่านก็ว่าให้เหมาไปได้เลยว่าฝนถล่มหนักแน่ ไอ้เรื่องนี้จำฝังใจว่าเคยอธิบายให้คนไทยหัวนอกฟัง แต่พี่แกทำป็นเรื่องตลกอย่างเดียว สุดท้ายคืนนั้นเกือบจะไม่ใช่แค่อุปกรณ์ทุกอย่างเปียกโชก แต่จะกลายเป็นลอยไปพร้อมกับสายน้ำด้วยซ้ำไป

เรื่องแบบนี้ใช่ว่าจะมีแค่ของไทยเท่านั้นนะครับ ของฝรั่งก็เคยได้ยินมาว่าถ้าฟ้ามีสีแดงตอนกลางคืนก็เบาใจ หาผืนหญ้านุ่มๆ กางเต็นท์กันได้ตามใจชอบ แต่ถ้าเมื่อใดฟ้ามีสีแดงในตอนเช้าละก้อให้เตรียมตัวกันไว้ให้ดี
เอาเป็นว่าอย่างไรก็อย่าลืมสังเกตชัยภูมิที่มั่นทางลมทางน้ำกันไว้ให้ดีหน่อยก็แล้วกัน สำหรับการเที่ยวในช่วงนี้
เรื่องที่พักก็สำคัญครับ น้อยคนที่คำนึงถึงเรื่องนี้ อย่าลืมว่าเต็นท์ก็มีหลากหลายแบบการใช้งาน ไม่ใช่หลังเดียวใช้ได้ทุกฤดู และโดยมากเต็นท์ที่สามารถรับมือกับสายฝนได้ก็มักจะมีแผ่นหลังคาพิเศษที่มักเรียกกันว่าฟลายชีทกันน้ำ ที่สามารถกางออกกว้างเพื่อให้กำบังสายฝนรอบนอกเต็นท์เป็นบริเวณกว้างออกไปพอสมควร รวมถึงเอาพื้นที่นั้นไว้ใช้ประโยชน์สำหรับวางข้าวของ หรือเสื้อผ้าที่เปียกได้ หรือจัดเป็นที่นั่งล้อมวงนั่นกินข้าวพูดคุย จิบกาแฟ ผสมละอองฝน… บรรยากาศ สุดสุดละครับ

นอกจากเต็นท์แล้ว ฮวงจุ้ย หรือทำเลตั้งเต็นท์ก็สำคัญ ช่วงนี้เลือกเนินสูงหลีกเลี่ยงริมลำธารเป็นดีที่สุด อย่าลืมหันให้ด้านหลังของเต็นท์เป็นด้านรับลม ไม่อย่างนั้นได้นั่งตากลมหรือนอนลมโกรกกันเป็นแน่ ตรวจเช็คเชือกโยงเต็นท์ ,สมอบก ว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์แน่นหนา เพราะหากลมแรงๆ เต็นท์จะได้ไม่กลายสภาพเป็นว่าวบ้านลอยไป พลั่วสนามเป็นอุปกรณ์จำเป็นอีกอย่าง เอาไว้ขุดร่องระบายน้ำรอบๆ เต็นท์ อย่าวางใจแม้ว่าอยู่บนที่สูงแล้วก็ตาม

สิ่งที่ลืมไม่ได้ก็คือผ้าใบสำหรับรองก่อนกางเต็นท์ที่จะช่วยลดโอกาสการซึมของน้ำได้เป็นอย่างดี อุปกรณ์กันรั่วอย่างเทปผ้าใบหน้ากว้างที่นอกจากช่วยอุดรอยรั่วฉุกเฉินได้แล้ว คุณอาจพบว่ามันสามารถใช้งานได้หลากหลายอย่างไม่น่าเชื่อ

บางครั้งอาจลดดีกรีความเข้มของการเป็นคนรักธรรมชาติ ด้วยการหันไปใช้บริการของบ้านพักอุทยาน หรือรีสอร์ทดูบ้างก็ช่วยให้การเที่ยวครั้งนั้นสุขสบายขึ้นได้มากนะครับ

เรื่องเครื่องแต่งตัวก็จำเป็นครับ นอกจากจะให้บรรยากาศในการเที่ยวดีขึ้นแล้ว ก็ต้องดูความเหมาะสมด้วย เพราะหากเป็นชุดอุ้มน้ำแห้งยากเห็นทีจะไม่สนุกแน่ แถมยังจะพาลเจ็บป่วยเป็นหวัด ปอดบวมเอาได้ง่ายๆ อีก จึงควรหาชุดที่ใส่แล้วสบายตัวแม้จะเปียกอยู่ก็ตาม ถ้าเป็นประเภทกันน้ำได้ละเยี่ยมยอด การเลือกเสื้อผ้าแบบนี้ควรเน้นความอเนกประสงค์ไว้ด้วย เช่น แจ๊คเก็ตผ้าร่มที่สามารถกันลม กันฝน ให้ความอบอุ่นได้ ย่อมดีกว่าแจ๊คเก็ตผ้าฝ้ายหรือหนังชามัวร์เป็นแน่แท้

ส่วนประเภทชอบนอนฟังเสียงสายฝน หรือชมวิวผ่านประตูเต็นท์ ก็คงไม่ต้องอะไรมาก แต่ถ้าเป็นประเภทต้องออกมาลากสายสลิงเพื่อวินช์กันอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเพราะความมันส์ หรือจำเป็น (คาดว่าน่าจะเป็นอย่างหลังมากกว่า) อุปกรณ์อย่างบูตยางทรงสูง และผ้าใบปันโจของทหารก็ใช้ได้ดีทีเดียว แต่ถ้าทุนสูงจะใช้ชุดหล่อกันฝนแบบเป็นผ้าใบชุบไขของออสเตรเลียก็ดูเข้าท่าไม่น้อยเหมือนกัน

สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการเที่ยวป่าในช่วงนี้ก็คือถุงกันทาก และยากันแมลงที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างเช่นพวกสเปรย์ตะไคร้หอม สำหรับเอาไว้ฉีดพ่นในเต็นท์ อย่างน้อยก็ช่วยกันแมลงทั้งที่มีพิษและไม่มีพิษได้ และอย่าลืมถุงก๊อบแก๊บหรือถุงใส่ของชำสารพัดขนาดที่สามารถขยำเก็บเป็นก้อนเล็กๆได้นั่นหละครับ เชื่อไหมว่าพกไปเท่าไรก็ไม่เคยพอใช้สักที

เชื่อเถอะครับว่าไม่ว่าคุณจะมือโปรสักแค่ไหน เส้นทางในป่าหน้าฝนสามารถสร้างโจทย์ที่คิดไม่ถึงให้คุณได้เสมอ ดังนั้นนอกจากการเตรียมรถให้มีสภาพสมบูรณ์เต็มพิกัด พร้อมกับการศึกษาเส้นทางมาเป็นอย่างดีแล้ว ตัวช่วยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวินช์ เชือกกระตุก จอบ เสียม ฯลฯ ล้วนแล้วแต่จำเป็นต้องเตรียมให้พร้อม

ที่สำคัญไม่อาจขาดไปได้ในหัวข้อนี้ก็คือผู้ช่วย หรือผู้โดยสารที่เดินทางมาด้วยกันนั้น ควรเตรียมตัวพร้อมลงไปใช้แรงงานได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นการเข็น ดันท้าย ขย่ม หรืออื่นๆ ตามสถานการณ์

กฎข้อสำคัญก็คืออย่าชะล่าใจ ตัดสินประเมินสถานการณ์หยาบๆ อย่าไว้ใจตัวเอง หรือเชื่อมือตัวเองมากไปนัก ของแบบนี้ที่ว่ามือโปร อุปกรณ์ครบ ก็เคยตะแคงหรือถึงขั้นตีลังกา จนต้องเดินออกมาหาคนช่วยก็มีมาเยอะแล้วครับ (ตอบอย่างไม่อายว่าผมก็เป็นหนึ่งในจำนวนที่ต้องออกหาคนช่วยมาแล้วครับ)

เรื่องของอาหารการกินนับว่าขาดไม่ได้ แต่ก็ไม่ธรรมดาสำหรับในการเที่ยวป่าหน้าฝน เพราะเป็นที่รู้กันดีว่ามักจะชื้นแฉะกันทุกพื้นที่ แต่สมัยนี้ก็คงไม่มีใครก่อไฟด้วยฟืนหุงข้าวกันอีกแล้ว เตาแก๊สแบบพกพาจึงเป็นทางออกที่ลงตัวที่สุด แต่สำหรับผู้ที่ยังเน้นแนวเดิมแบบต้องการบรรยากาศควันไฟ และกลิ่นไอจากยางไม้ แต่ประสบปัญหาไม่มีเชื้อไฟ งานนี้เศษเสี้ยวของรองเท้าฟองน้ำที่เจ้าของเผลอรับรองว่าช่วยให้คุณก่อไฟจากฟืนเล็กๆ ที่ชื้นได้ง่ายขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อทีเดียว

อีกเรื่องที่ไม่น่าเชื่อแต่จำเป็นอย่างยิ่งต้องเชื่อก็คือ เผื่อเวลาเตรียมเสบียงอาหารและน้ำดื่มไว้ให้มากกว่าระยะเวลาจริงสักวันสองวันด้วยนะครับ ที่สำคัญอย่างสุดท้ายขาดไม่ได้เลยก็คือ “เตรียมใจ” อย่าคิดว่าทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบเสมอไป

อย่าซีเรียสหากบางอย่างไม่เป็นอย่างที่คิดไว้ เพราะนี่คือสีสันของการท่องเที่ยวที่ทำให้คนอื่นอิจฉาเมื่อได้ฟังเรื่องราวจากปากคุณ และมันจะอยู่ในความทรงจำของคุณอย่างไม่มีวันลืมเลือนตลอดไป

 


teentoa.com ขอขอบคุณ
บทความโดย ไลฟ์แอนด์ออลวีลไดรฟ์
เรียบเรียง ตีนโต ดอทคอม


 

 

article [last update 17-10-06]


 
Copyright @ 2005 / Web Designed by : teentoa / Since : 24 April 2006
All Right Reserved, Contact us : teentoa@yahoo.com