article [last update 13-12-06] อ่าน

เลือกเต็นท์ไปเที่ยว (ตอน1)

เริ่มเข้าหน้าหนาวแบบนี้แม้ว่าอากาศในกรุงเทพ ฯ จะยังระอุจนให้สงสัยว่าฤดูอะไรกันแน่ แต่ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติต่างๆ แล้ว หลายคนเพิ่งกลับมาคอนเฟิร์มด้วยอาการไข้หวัดที่ยังไม่หายดีว่า “เย็นสุดขั้วหัวใจ”

จะไปสัมผัสอากาศหนาวทั้งที ให้ไปนอนรีสอร์ทก็กะไรอยู่ บรรยากาศไหนเลยจะไปสู้กางเต็นท์บนลานกว้าง พร้อมผิงไฟนั่งนับดาวได้ ว่าแล้วบางคนก็เตรียมวางแผนการเดินทางทันที แต่อาจนึกขึ้นได้ว่ายังไม่มีเต็นท์เป็นของตัวเองสักหลัง คราวนี้จะเลือกแบบไหนเพราะเท่าที่เห็นก็มีอยู่เต็มตลาดไปหมด

ของบางอย่างจะว่าง่ายก็ไม่ใช่ยากก็ไม่เชิง ผมเชื่อว่าแค่เรื่องเลือกเต็นท์สักหลังที่ดูเหมือนเรื่องง่าย ๆ แค่เข้าไปในแผนกกีฬาหรืออุปกรณ์กลางแจ้งในห้างสรรพสินค้า หยิบมาสักหลังแล้วจ่ายเงินเท่านี้ก็เสร็จ นั่นก็อาจจะใช่ เพราะผมเองก็เคยมีเพื่อนบางคนที่ตัดสินใจเลือกเต็นท์แบบหลังใหญ่ไว้ก่อน จากนั้นก็ประเดิมงานแรกด้วยการท้าทายสภาพอากาศอันเย็นจับใจที่ลานกลางเต็นท์ของช่องเย็น อุทยานแห่งชาติแม่วงศ์ จังหวัดนครสวรรค์ ก่อนจะกล่าวคำราตรีสวัสดิ์ว่าขอตัวเข้าหลับในคฤหาสน์ก่อน และขอให้ผมหลับสบายในกระท่อมหลังน้อย (หมายถึงเต็นท์หลังเล็กๆ ของผม) จากนั้นไม่นานเท่าไรขณะผมกำลังเคลิ้มก็เริ่มมีเสียงบ่นของเพื่อนทั้งสองคนที่อยู่ในเต็นท์ใหญ่ขนาด 6-7 คน ถึงอากาศที่เริ่มหนาวเย็นขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่เต็นท์ของผม ก็กำลังอุ่นสบายจากการที่เป็นเต็นท์ขนาดพอดี สามารถเก็บกักความอบอุ่นไว้ได้ ส่วนเต็นท์ใหญ่เกินไปของเพื่อนทั้งสองก็เป็นขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะเก็บไออุ่นจากร่างกายไว้ได้ จากนั้นไม่นานก็เริ่มมีการชวนกันไปนอนในรถ ทั้งที่ความจริงแล้วในสภาพนี้รถจะเย็นมากกว่าในเต็นท์อีกครับ ทั้งยังนอนลำบากกว่าอีก แต่งานนี้ต้องปล่อยให้เป็นไป เพราะเป็นเรื่องกลับเอาคุยกันให้อมยิ้มกันได้อีกหลายครั้ง

ในอดีตหลายคนอาจคุ้นเคยกับเต็นท์ทรงสามเหลี่ยม ขนาดเล็กๆ นอนได้ทีละ 2-3 คน กระทั่งในปัจจุบันนี้ภาพเต็นท์ที่ว่าก็ถูกแทนที่ด้วยเต็นท์ทรงโดมสีสดใส อย่างที่เราเห็นได้จากภาพวิว หรือนิตยสารท่องเที่ยว จนแม้สรุปได้ว่าเต็นท์โดมจะเป็นตัวเลือกที่เข้าท่าที่สุด แต่ก็ยังมีข้อสงสัยอีกหลายประการ ไม่ว่ารายละเอียดรูปแบบของเต็นท์ ขนาด วัสดุ ฯลฯ

เต็นท์โดมกำเนิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 70 จากการออกแบบของวิศวกรชาวอเมริกันนามว่านาย บัคมินสเตอร์ ฟูลเลอร์ ท่าทางหมอนี่ก็น่าจะเป็นนักเดินทางท่องเที่ยวตัวฉกาจเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน โดยโครงสร้างจะเป็นการประยุกต์จากโครงสร้างของ geodesic dome คือเป็นการยกหลังคาให้สูงขึ้นด้วยการดัดโค้งของเสาทั้ง 4 ต้น (หรืออาจเป็น 6 - 8 ต้นตามขนาดและรูปแบบของเต็นท์) พร้อมกับทำหน้าที่เป็นตัวรับน้ำหนักได้อย่างลงตัวกับแรงตึงของผืนผ้าเต็นท์ ที่มักทำจากวัสดุสังเคราะห์ตามแต่จุดประสงค์การใช้งาน เมื่อกางเรียบร้อยแล้ว สามารถยกเคลื่อนย้ายไป-มา ได้ เมื่อมีลมแรงก็เพียงตอกสมอล็อกไว้เท่านั้น และหากต้องการเพิ่มพื้นที่ใช้สอย หรือกันฝนรั่วก็มีอุปกรณ์เสริมที่เหมือนเป็นอุปกรณ์มาตรฐานอย่าง ฟลายชีท หรือ ผืนผ้าไนล่อน ขึงด้านบนอีกครั้ง เท่านี้ก็เพียงพอกับค่ำคืนอันอุ่นสบาย

ส่วนประกอบหลักของเต็นท์โดมก็คือ

1.โครงเต็นท์ ทำจากวัสดุสังเคราะห์ประเภทไฟเบอร์หรืออะลูมินั่มให้ตัวได้มาก

2.ตัวเต็นท์ มักทำจากผ้าไนล่อน มีช่องประตูเข้า-ออก ช่องหน้าต่างระบายอากาศเปิด-ปิดได้ พร้อมตาข่ายแบบถี่กันแมลง ภายในอาจมีลูกเล่นประเภทกระเป๋าใส่ของกระจุกกระจิกต่างๆ

ตัวเต็นท์หรือผ้าที่ทำตัวเต็นท์นับเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือก เต็นท์ที่ดีคือต้องกันน้ำแต่ต้องสามารถระบายอากาศได้ดี แต่เต็นท์แบบนี้ก็มักมีราคาแพง ทางออกของเต็นท์ในบ้านเราจึงมักเป็นแบบกัน ทั้งน้ำ และอากาศ แต่ถ้าต้องการให้ระบายอากาศมากๆ ก็ใช้วิธีเปิดหน้าต่างหรือช่องระบายเอา

3.พื้นเต็นท์ เป็นส่วนสำคัญอีกประการ มีทั้งทำด้วยพลาสติกผ้าใบ หรือพีวีซี จนถึงวัสดุกันน้ำอย่างดีที่สำคัญต้องเคลือบกันน้ำอย่างดี ทนทานไม่ขาดง่าย ภายนอกจะมีห่วงสำหรับยึดกับสมอบกได้ขอบพื้นเต็นท์มักทำให้สูงจากพื้นขึ้นมาพอประมาณ สำหรับการใช้งานสภาพดินฟ้าอากาศอย่างบ้านเรา ขอบพื้นเต็นท์สูงขึ้นมาสัก 6-10 นิ้ว ก็น่าจะเพียงพอแล้ว

4.ฟลายชีท มักทำจากไนล่อนกันน้ำ หรือเคลือบสารกันน้ำ ทำหน้าที่ป้องกันเต็นท์จากฝนรั่ว หรือน้ำค้างหนักจนกลั่นตัวเป็นหยดน้ำจากหลังคาเต็นท์ หยดใส่คุณตอนกำลังฝันหวาน หรือหากเป็นแบบกางยื่นออกนอกตัวเต็นท์มากๆ ก็ใช้เป็นร่มบังแดดบังน้ำค้างสำหรับนั่งเล่นได้เป็นอย่างดี

5.สมอบก มีทั้งทำจากเหล็ก อะลูมินั่ม พลาสติกแข็ง ทั้ง 2 ทรงหลัก ๆ คือ แท่งทรงกลมมีห่วงล็อกด้านบน และฉากแบน การใช้งานก็ต่างกัน คือ หากเป็นดินทั่วไปก็ใช้แบบแท่งกลมได้ หากเป็นดินทรายแบบเหล็กฉากแบนจะยึดได้ดีกว่า หลักการใช้สมอบกที่สำคัญก็คือ หากไม่มีลมก็ไม่จำเป็นต้องตอกยึดแต่อย่างใด แต่หากต้องตอกยึดก็ต้องตอกให้มิดไม่ให้เดินสะดุด เพราะเคยมีหลายคนต้องหมดสนุกแถมมีร่องรอยแห่งความทรงจำที่เท้า เพราะเดินเตะสะดุดสมอบก ที่ตอกไม่สุด

อุปกรณ์อีกอย่างที่ไม่จัดชุดเข้ากับเต็นท์ และต้องซื้อเพิ่มก็คือผ้าใบขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายกระสอบปุ๋ยแต่ขนาดใหญ่กว่ามาก ผ้าใบแบบนี้ใช้งานได้สารพัดประโยชน์ครับ ตั้งแต่ปูรองก่อนกางเต็นท์ จนถึงขึงแทนฟลายชีทกันแดดกันฝน

การเลือกเต็นท์และอุปกรณ์

ผมได้รับคำถามหลายครั้งเกี่ยวกับการเลือกซื้อเต็นท์สักหลัง แม้ว่าทุกวันนี้เต็นท์จะราคาไม่แพงนัก และหาซื้อได้ง่าย รวมถึงมีรูปแบบอันหลากหลายแต่ก็ด้วยความหลากหลายนี่เอง ทำให้การตัดสินใจเป็นเจ้าของเต็นท์สักหลังจึงมักเต็มไปด้วยคำถามหลายประการ

Q เลือกเต็นท์แบบไหนดี ?
A เต็นท์โดมครับ ชัวร์ อินเทรนด์ และใช้งานได้เวิร์คที่สุด กว้างขวางสะดวกสบายกว่าเต็นท์แบบสามเหลี่ยมยุคโบราณ แถมหลังคายังสูงโปร่งไม่อึดอัด กางได้รวดเร็ว

Q เอาขนาดไหนดี ใหญ่ไว้ก่อนดีหรือเปล่า ?
A ก็ต้องดูกันก่อนละครับว่าจะนอนกันกี่คน โดยมากขนาดของเต็นท์ที่บอกไว้ข้างกล่องบรรจุ มักจะบอกไว้ไม่ตายตัวเช่น 2-3 คน หรือ 4-5 คน เอาเป็นว่าเผื่อไว้แค่ 1 คนก็พอครับ เช่นไปกัน 2 คน ก็เลือกเอาแบบ 2-3 คน อะไรแบบนี้ หากไปกัน 5-6 คนแล้วจะเลือกเต็นท์ใหญ่ไว้นอนรวมกันก็ตามใจเถอะครับ แต่เชื่อเถอะว่าสะดวกสู้แบ่งเป็น 2 หลังไม่ได้หรอกครับ

Q แล้วถ้าไปกันแค่ 2-3 คน แต่ใช้เต็นท์ 6-7 คน จะเกิดอะไรขึ้น ?
A ก็หนาวนะซิครับ แม้ว่าจะปิดสนิทแล้วก็ตาม ในสภาพอากาศเย็นจัด เต็นท์จะทำหน้าที่ช่วยเก็บไออุ่นจากร่างกายไว้ภายในเต็นท์ หากเต็นท์มีขนาดใหญ่เกินไปก็เหมือนกับเราอยู่ในห้องกว้างๆ ไออุ่นจะกระจายออกไปหมด
หากเป็นในช่วงหน้าร้อน แม้ว่าจะเป็นเต็นท์ขนาดไม่ใหญ่นัก หากต้องการให้ระบายอากาศก็เพียงเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกเท่านั้น ที่สำคัญเต็นท์ขนาดใหญ่เกินไปนอกจากจะเป็นภาระเรื่องน้ำหนักแล้ว การกางออกใช้งานและเก็บก็เสียเวลามากกว่า ซ้ำหากเป็นสถานที่มีลมพัดผ่านก็ยังต้านลมมากกว่าเต็นท์ขนาดย่อมลงมาอีกด้วย


teentoa.com ขอขอบคุณ
บทความโดย ไลฟ์แอนด์ออลวีลไดรฟ์
เรียบเรียง ตีนโต ดอทคอม


 

article [last update 13-12-06]


 
Copyright @ 2005 / Web Designed by : teentoa / Since : 24 April 2006
All Right Reserved, Contact us : teentoa@yahoo.com