article [last update 20-12-06] อ่าน

เลือกเต็นท์ไปเที่ยว (ตอน2)

สำหรับนักขับที่ชอบชมธรรมชาติ คงจะได้คลายสงสัยเกี่ยวกับการเลือกเต็นท์ไปบ้างแล้ว ซึ่งในสัปดาห์นี้ผมขอตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่อง เต็นท์ จนจบ

Q จำเป็นหรือไม่ที่เต็นท์ต้องมีฟลายชีท ?
A จำเป็นอย่างยิ่งครับ เพราะไม่มีเต็นท์ไหนกันน้ำได้ 100 เปอร์เซ็นต์ หน้าที่สำคัญของฟลายชีทนอกจากเป็นหลังคากันน้ำกันฝนแล้ว ยังทำหน้าที่กันน้ำที่เกิดจากตัวเต็นท์สัมผัสกับอากาศเย็นด้านนอกโดยตรง ขณะที่ข้างในอุ่นกว่า ทำให้เกิดเป็นหยดน้ำ หยดลงในเต็นท์อีกด้วย

คุณสมบัติสำคัญของฟลายชีทคือทำจากวัสดุที่มีแรงตึงผิวสูง หรือมีการเคลือบสารกันน้ำ ทำให้น้ำไม่สามารถผ่านได้ และเมื่อประกอบเข้าตัวเต็นท์ จะต้องมีความลาดเอียงพอที่ไม่ทำให้น้ำขังอยู่บนฟลายชีท อันเป็นการลดโอกาสน้ำซึมผ่านลงมาได้อีกชั้นหนึ่งด้วย

จุดบอดของฟลายชีท และเต็นท์มักจะอยู่ที่ ตะเข็บ อันเกิดจากการตัดเย็บ เต็นท์และฟลายชีทที่ดี จึงต้องมีการซีลเคลือบบริเวณตะเข็บ ลองพลิกดูแนวตะเข็บด้านในจะต้องมีการเคลือบด้วยวัสดุใสๆ คล้ายพลาสติก หรือหากใช้ไปสักพักแล้วมีการรั่วซึมก็สามารถซ่อมแซมได้ด้วยสเปรย์กันน้ำกันซึม ที่มีจำหน่ายตามร้านอุปกรณ์แคมปิ้งใหญ่ๆ ครับ

Q เต็นท์หรือฟลายชีทขาด จะซ่อมแซมชั่วคราวอย่างไร ?
A ใช้เทปปะเอาสิครับ … พูดจริงๆ ครับไม่ใช่เรื่องล้อเล่น ใช้เทปพลาสติกหน้ากว้างแบบเป็นสีๆ ที่มีจำหน่ายตามร้านเครื่องเขียน อุปกรณ์สำนักงานทั่วไป แปะติดลงไปบริเวณที่ต้องการซ่อมแซม เทปแบบนี้กาวจะเหนียวมาก แปะแล้วลอกแทบไม่ออกแถมยังกันน้ำอีกด้วย

Q เต็นท์เพียงหลังเดียวสามารถใช้งานได้ทุกสภาพภูมิอากาศหรือไม่ ?
A ไม่มีอะไรสมบูรณ์ไปทุกอย่าง เช่นเดียวกับเต็นท์ที่ไม่สามารถรับมือกับสภาพภูมิอากาศได้ทุกแบบ แต่สำหรับบ้านเราที่สภาพภูมิอากาศไม่เลวร้ายรุนแรง เต็นท์ที่ขายกันทั่วไปก็เพียงพอจะรับมือได้ครับ

Q เก็บเต็นท์อย่างไร ?
A อย่าลืมว่าก่อนกางเต็นท์ควรมีผ้าพลาสติกปูรองก่อน นอกจากจะช่วยในเรื่องการซึมเลอะเปรอะเปื้อนแล้วยังช่วยลดโอกาสที่พื้นเต็นจะเสียหายจากวัสดุที่หลงตาอยู่ที่พื้น ส่วนการเก็บเต็นท์ให้สะดวกนั้น เมื่อตื่นนอนออกมาและทราบว่าวันนี้ต้องย้ายที่นอนก็ให้เปิดช่องระบายอากาศทั้งหมดในเต็นท์ แล้วปลดเต็นท์ลงราบกับพื้นทิ้งไว้สักพัก เต็นท์จะค่อยราบลงสนิทกับพื้นเพราะอากาศได้ถูกน้ำหนักของเต็นท์กดลงไล่ออกไป หากปลดเต็นท์ลงแล้วเก็บทันทีจะพบว่าการเก็บเต็นท์ให้มีขนาดเล็กทำได้ลำบาก เพราะมีอากาศที่ถูกขังไว้ภายใน ทำให้บวมพองเป็นลูกโป่ง

Q มีถุงนอนแล้วจำเป็นต้องมีเต็นท์หรือเปล่า ?
A ถุงนอนก็เหมือนผ้าห่มครับ คงไม่มีใครอยากนอนห่มผ้าแล้วตากลมเย็นที่พัดผ่านตลอดคืน หรือต้องรำคาญกับฝูงยุงป่าที่คอยก่อความรำคาญให้แม้จะใช้ตาข่ายคลุมศีรษะแล้วก็ตาม ที่สำคัญคือยังไม่มีถุงนอนแบบกันฝนมาให้ใช้กัน ถุงนอนจึงเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ควบคู่กับเต็นท์ได้อย่างลงตัว หน้าที่สำคัญของถุงนอนก็คือเป็นตัวเก็บความอบอุ่น หรือทำให้ไออุ่นจากตัวซึมผ่านไปได้น้อยที่สุด

วัสดุที่ใช้ทำถุงนอนแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่อยู่ภายนอกและส่วนที่ภายใน ส่วนที่อยู่ภายนอกมักเป็นวัสดุประเภทกันน้ำกันลม ส่วนภายในจะเป็นวัสดุที่เก็บกักความร้อนได้ดีประเภทขนอุยของเป็ดหรือห่าน และวัสดุสังเคราะห์ประเภทเส้นใยโพลีเอสเตอร์ แน่นอนว่าแบบแรกราคาแพง และดูแลได้ยากกว่า ขณะเดียวกันก็เก็บกักความร้อนได้ดีกว่า แต่ถ้าถามว่าแบบไหนเหมาะกับบ้านมากกว่าก็ต้องตอบว่าแบบที่สองหรือ แบบที่ทำจากวัสดุสังเคราะห์ ประเภทเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ที่ราคาถูกกว่ามาก และดูแลรักษาได้ง่ายกว่า ซักได้ แห้งเร็ว ไม่อมความชื้น

การดูแลรักษาถุงนอนหลังกลับจากทริป ก็คือหากไม่เปื้อนอะไรก็เพียงแค่คลี่ออกผึ่งลมในบริเวณอากาศถ่ายเทได้สะดวก ห้ามตากแดดเพราะอาจทำให้เสียหายได้ หลังจากนั้นม้วนหรือพับเก็บหลวมในถุงตาข่าย อย่าเก็บในถุงไนล่อนเดิมที่บรรจุมาตอนซื้อเพราะจะทำให้อับชื้น หรือเหม็นอับ เพราะอากาศถ่ายเทไม่สะดวก

Q มีถุงนอนแล้วจำเป็นต้องมีที่นอนเป่าลมหรือเปล่า ?
A ไม่จำเป็นครับ แต่แนะนำให้ซื้อหาไว้ เพราะนอกจากจะทำให้เต็นท์ของคุณหรูหราสะดวกสบายเกินหน้าเพื่อนฝูงแล้ว ยังช่วยให้คุณหลับได้อย่างสบายอบอุ่น ที่นอนเป่าลมเดี๋ยวนี้ราคาไม่ได้แพงไปกว่าเต็นท์ ขนาดสำหรับเต็นท์ 2-3 คน มีทั้งแบบปั๊มลมในตัวใช้เหยียบเอา หรือใช้ลมจากปั๊มลมที่เสียบกับที่จุดบุหรี่ในรถ เมื่อเลิกใช้งานไล่ลมออกเหลือเพียงเท่าแมกกาซีนหนาสัก 6 นิ้ว น้ำหนักเพียงกิโลกรัมกว่าเท่านั้น หากไม่มีภาระต้องแบกเอง ประเภทโยนไว้ท้ายรถได้ ที่นอนเป่าลมก็ช่วยให้ทริปของคุณสุขสันต์ขึ้นอีกมากทีเดียวครับ

ปล. เชื่อเถอะครับว่ารูปถ่ายตอนผิงไฟในยามค่ำคืน กับรูปถ่ายของคุณนั่งยิ้มแป้นอยู่หน้าเต็นท์ในตอนเช้าพร้อมไอหมอกบางๆ จะทำเอาเพื่อนอิจฉากันทั้งออฟฟิศ

 


teentoa.com ขอขอบคุณ
บทความโดย ไลฟ์แอนด์ออลวีลไดรฟ์
เรียบเรียง ตีนโต ดอทคอม


 

article [last update 20-12-06]


 
Copyright @ 2005 / Web Designed by : teentoa / Since : 24 April 2006
All Right Reserved, Contact us : teentoa@yahoo.com