article [last update 26-12-06] อ่าน

มือใหม่ไปเที่ยว

ตลอดทั้งปี คงไม่มีช่วงเวลาไหนที่จะเหมาะกับการท่องเที่ยวมากเท่ากับช่วงนี้ไปจนถึงเวลาสงกรานต์ โดยเฉพาะปลายฝนต้นหนาวมีองค์ประกอบหลายๆ อย่างที่ลงตัวสำหรับคนที่มีรถยนต์จะขับรถยนต์ไปเที่ยวด้วยตนเอง อาจจะมีปัญหาบ้างสำหรับผู้ที่ถูกเรียกว่าเป็นมือใหม่เพิ่งขับรถ เพิ่งได้รถคันแรกไม่ว่าจะเป็นป้ายแดงมือสองมือสาม เมื่อมีรถก็อยากขับเดินทางไกล มือใหม่ๆ รถใหม่ๆ (รวมทั้งเก่าของคนอื่น) ก็อยากจะขับด้วยตนเอง แต่ก็ยังหวาดวิตกว่ารถที่ใช้อยู่นั้นจะไปได้ไกลแค่ไหน คนที่ไม่เคยขับรถทางไกลจะต้องเตรียมความพร้อมอะไรกันบ้าง

วันนี้ก็จะขอเอาประสบการณ์ความคิดเห็นส่วนตัวมาบอกเล่าให้มือใหม่ๆ กันว่า ถ้าจะไปเที่ยวไกลๆ นั้นจะไปกันอย่างไร เรื่องการตรวจตราเตรียมรถนั้นคงจะไม่เอามาเขียนกันแล้วละ เขียนกันบ่อย พูดกันบ่อยมากมาย
หลายท่านถ้าคิดจะเที่ยว การเตรียมรถนั้นคงจะเรียบร้อย พร้อมออกเดินทางกันแล้ว เริ่มต้นเมื่อต้องการขับรถไปเองก็ต้องรู้จักรถของตนเองพอสมควร อยากจะย้ำว่ารถยนต์ที่วิ่งอยู่บนถนนทุกวันนี้ไม่ว่าจะเก่าใหม่แค่ไหน ถ้าอยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมก็สามารถที่จะไปได้ทุกแห่งบนแผ่นดินนี้

หลายท่านที่มีรถยนต์ขนาดเล็ก เครื่องยนต์ขนาดหนึ่งพันสามร้อยซีซี มักจะบอกตนเองว่าเครื่องเล็กไปกลัวจะไปไกลๆ ไม่ไหว ไปไหวครับ ไปได้ครับ ขึ้นเขาลงดอยปีนควนไต่เหวได้หมด ขอเพียงให้รู้ว่ารถเราเล็ก เราก็ไปแบบเล็กๆ รถยนต์ขนาดหนึ่งพันซีซีมีความสามารถที่จะไปได้ทุกที่ถ้าเราตั้งข้อจำกัดเอาไว้ เช่นจำนวนคนไม่เกินสี่คน สัมภาระส่วนตัวพอเพียงสำหรับสี่ห้าวัน

เต่าวิ่งช้ากว่ากระต่าย ถ้ารถเล็กเข้าใจว่าเป็นเต่าก็ไปได้ถึงจุดหมายเช่นกัน การเดินทางไกลท่องเที่ยวไม่ได้ไปแข่งขันอะไรกับใคร คนอื่นๆ อาจจะใช้รถที่ใหญ่กว่า ไปได้เร็วกว่า บรรทุกได้มากกว่าก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของเขา ต้องเชื่อมั่นว่าเราก็ไปได้ ไปในแบบของเรา

การเดินทางไกลด้วยการขับรถไปเองนั้น ผมถูกสอนมาว่าอย่ากำหนดเวลาที่ตายตัว ที่จะไปถึงเพราะจะสร้างความกดดันให้กับตัวเอง ทำให้เกิดความเครียดในการขับเช่นออกจากกรุงเทพฯตอนเช้าจะไปเชียงใหม่ เวลาที่ใช้ขับไปแบบสบายๆ ก็อยู่ประมาณสิบถึงสิบสองชั่วโมง ถ้าเรากำหนดเวลาตามนั้นโดยที่เราไม่รู้เลยว่าในระหว่างทางจะมีอุปสรรคอะไรบ้างที่จะทำให้ต้องเสียเวลาไปมากกว่านั้น เราก็จะเครียด เพื่อที่จะทำเวลาชดเชยกับที่เสียไป โอกาสผิดพลาดก็จะเกิดขึ้นในขณะขับ ก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย

ทุกวันนี้ทุกคนที่ใช้รถมีโทรศัพท์มือถือ ในรถมีวิทยุไว้รับฟังข่าวสาร ต้องแน่ใจว่าโทรศัพท์ใช้งานได้ดี แบตเตอรี่ทั้งตัวหลักตัวสำรองมีมากพอใช้งานตลอดระยะเวลาเดินทาง ไม่เป็นเรื่องขี้กลัวขี้ตื่นเกินเหตุถ้าทุกครั้งที่จอดรถพักรถ จะโทรบอกตำแหน่งพิกัดวันเวลาในขณะนั้นให้เพื่อนฝูงญาติพี่น้องได้รับทราบเอาไว้ วิทยุติดรถเมื่อผ่านท้องที่ใดก็เปิดสถานีท้องถิ่นฟังเอาไว้ ถ้าเป็นไปได้ก็จดหมายเลขโทรศัพท์ของสถานีนั้นๆ เอาไว้ เพื่อยามฉุกเฉินคุณก็จะมีผู้ช่วยเหลือได้อย่างสะดวก

ช่วงที่ขับรถบนเส้นทางที่ยาวไกลบนถนนที่พลุกพล่านด้วยยวดยานนานาชนิดนั้น มือใหม่มักจะเครียดจะเกร็ง ก็ต้องกำหนดตัวเองว่าเมื่อนั่งขับไปสองชั่วโมงแล้วจะต้องจอดพักโดยไม่ต้องไปสนใจว่าในสองชั่วโมงที่ผ่านมานั้น จะขับได้ระยะทางเท่าไร และก็ไม่ควรจะกำหนดระยะเวลาที่จะต้องพักตายตัวเช่นพักครั้งละเท่านั้นเท่านี้นาที ชั่วโมง เมื่อเราพักแล้วรู้สึกว่าพอ ร่างกายจะบอกเราเองว่าพร้อมที่จะเดินทางต่อไป ในการหยุดพักในแต่ละครั้งไม่จำเป็นที่จะต้องตรวจดูรถทุกครั้งไป ถ้าช่วงเวลาที่คุณขับผ่านมานั้น มาตรวัดทุกตัวทำงานเป็นปกติ เพราะรถยนต์ปัจจุบัน (ตั้งแต่ปี 90 ขึ้นมา)มาตรวัดทุกตัวที่หน้าปัดจะตรวจให้เราเรียบร้อยแล้ว

รถเล็กๆ เครื่องเล็กๆ ถ้าเป็นเกียร์อัตโนมัติก็จะขับได้ง่ายๆ เข้าเกียร์ D กดปุ่ม OD ให้ ON ไว้ตลอดเวลาเท่านั้น ก็ขึ้นเขาได้ทุกลูกแล้ว บางคนมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทาง (ขับรถ) ในตอนกลางคืน ก็ต้องดูแลสุขภาพกันให้เต็มที่ พักผ่อนให้เพียงพอ ตรวจวัดสายตาให้ถูกต้อง

ผมเองนั้นสมัยเมื่อสามสิบกว่าปี ทำงานอยู่แม่ฮ่องสอน ขึ้นลงแม่ฮ่องสอนเชียงใหม่เป็นประจำ ผมมักจะเดินทางตอนกลางคืนโดยเฉพาะช่วงเชียงใหม่แม่ฮ่องสอน สมัยนั้นรถยังไม่มากมายเหมือนปัจจุบัน ถนนเส้นทางไม่ราบเรียบเหมือนทุกวันนี้

การขับรถในตอนกลางคืนในหุบเขา ช่วยให้ผมทำความเร็วได้ดีกว่ากลางวัน เพราะเส้นทางที่มีโค้งคดเคี้ยวเป็นพันโค้งนั้น ในตอนกลางคืนจะมองเห็นรถที่ขับสวนมาได้จากระยะไกล เพราะแสงจากโคมไฟของรถคันนั้นจะเป็นตัวชี้ตำแหน่งล่วงหน้า ผิดกับการขับตอนกลางวันที่ใช้ได้เพียงเสียงแตรและก็จะรู้ตัวกันก็เมื่อเกือบประจันหน้า แต่กับปัจจุบันอายุมากขึ้น โค้ง เนินถูกตัดใหม่เปลี่ยนไปหลงโค้งหลงเนินจึงต้องมาขับกันตอนกลางวัน
ปัญหาที่กลัวกันมากๆ ก็คือ ขึ้นเขาที่สูงชันจะใช้เกียร์อะไร และถึงตอนลงจะใช้เกียร์อะไร ที่จริงก็มีสูตรหรือกฎง่ายๆ อยู่ว่า ขึ้นเกียร์ไหนก็ลงเกียร์นั้น

เช่นถ้าเป็นรถที่ใช้เกียร์ธรรมดา ช่วงที่ขึ้นเขาเราใช้เกียร์สามตอนลงก็ต้องใช้ไม่มากกว่าเกียร์สาม อาจจะดูยากสำหรับผู้ที่ใช้เกียร์ออโต้ เพราะเมื่อตอนขึ้นภูเขา ผมแนะนำให้ใช้เกียร์ Dตลอด ก็อาจจะไม่รู้ว่าแต่ละช่วงละตอนนั้นเกียร์ไหนทำงานกันบ้าง ก็ไม่ยากเมื่อถึงขาลง กดสวิตช์ OD ไปที่ตำแหน่ง OD OFF เพียงเท่านี้รถของคุณก็จะมีแค่เกียร์สามไม่ว่าทางลงจะเทลาดสักเท่าไร

แม้ว่าการลดด้วยเกียร์ตำแหน่งนี้จะทำให้คุณหวาดเสียว ในเกียร์ออโต้ คุณยังสามารถที่จะเลื่อนคันเกียร์มายังตำแหน่งที่ต่ำกว่าได้ทีละขั้นตอน เช่นจาก D (OD OFF) มาที่ตำแหน่ง 2 หรือ 1 ได้ ต่างกันกับการขับเกียร์ธรรมดาที่มีข้อห้ามอันเข้มงวดอยู่ว่า ห้ามเปลี่ยนเกียร์กลางดอย เช่นเมื่อคุณลงเขาด้วยเกียร์สามแล้วคุณรู้สึกว่าจะเอาไม่อยู่ จะเปลี่ยนเกียร์จากสามมาสองนั้น เป็นเรื่องที่ยากและเสี่ยงพอสมควร เพราะการเปลี่ยนเกียร์สูงมาลงต่ำในขณะที่รถยังเพิ่มความเร็วอยู่นั้น โอกาสที่เฟืองเกียร์จะเข้าไปขบกันนั้นยาก แม้ว่าคุณจะกดคลัตช์จนสุดแรงแล้วก็ตาม ทางป้องกันมีอยู่ทางเดียว คงต้องคลานลงมาด้วยเกียร์ต่ำตั้งแต่ต้น

อย่าไปสนใจคำค่อนขอดหรือสายตาที่มองมายังคุณแล้วคุณตีความหมายเอาเองว่าขับรถไม่เป็นถึงต้องคลานลงเขา ความสำคัญไม่อยู่ที่ใครเก่งกว่าใคร แต่อยู่ที่ใครลงมาได้อย่างปลอดภัย ชิ้นส่วนอุปกรณ์ระบบการทำงานของรถยนต์ไม่เสียหายจากการขับเก่งหรือไม่เก่ง

ที่จริงมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกพอสมควร สำหรับมือใหม่จะไปทางไกล แต่เท่าที่เขียนมาก็เพียงพอแล้วที่คุณจะท่องเที่ยวกับรถที่คุณมีอยู่ ไปเถอะครับไปให้ถึงที่ที่คุณอยากไป ผมเชื่อว่าคุณทำได้

 


teentoa.com ขอขอบคุณ
บทความโดย นายประโยชน์
เรียบเรียง ตีนโต ดอทคอม


 

article [last update 26-12-06]


 
Copyright @ 2005 / Web Designed by : teentoa / Since : 24 April 2006
All Right Reserved, Contact us : teentoa@yahoo.com