article [last update 05-01-07] อ่าน

ว่าด้วยเรื่องการรับประกัน (ตอน 1)

การเปิดตัวรถในงานมหกรรมยานยนต์ที่เพิ่งปิดฉากไปเมื่อวันก่อน มีสิ่งที่น่าสนใจเพื่อที่จะกระตุ้นหรือจูงใจผู้ซื้อก็น่าจะเกิดจากค่ายยักษ์ใหญ่ข้ามโลกสองค่ายคือฟอร์ดกับเจนเนอรัล มอเตอร์ส ที่ว่าด้วยเรื่องของการขยายการรับประกันสินค้า การรับประกันสินค้าก่อนนี้เป็นเรื่องที่แสดงความรับผิดชอบของผู้ผลิตที่จะต้องชดเชยส่วนที่ผลิตพลาดจากขั้นตอนการผลิต นอกจากนั้นการทำการรับประกันสินค้าก็เหมือนกับการรายงานทางเทคนิค ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับรถหลังจากการใช้งานไประยะหนึ่ง ดูแล้วก็น่าจะเป็นธรรมสำหรับผู้บริโภคแม้ว่ามูลค่าของการรับประกันนั้นจะถูกรวมไปกับราคาตัวรถล่วงหน้าอยู่แล้ว

ฟอร์ดขยายการรับประกันจาก 100,000 กิโลเมตร ในระยะเวลาสามปีเป็น 150,000 กิโลเมตร ในระยะเวลาห้าปี แล้วแต่ว่าอย่างไหนถึงก่อน เช่นเดียวกับเชฟโรเลตหรือ เจนเนอรัล มอเตอร์ส ที่ขยายเวลารับประกันไปเป็น 200,000 กิโลเมตรในระยะเวลาห้าปี การขยายเวลารับประกันนี้เป็นการขยายเวลารับประกัน ที่มีเงื่อนไขแนบท้าย ที่ผู้ที่จะซื้อต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้กับเงื่อนไขที่ถูกเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตามมองดูแล้วน่าจะเป็นผลดีกับผู้ที่ซื้อรถที่มีการขยายระยะรับประกันเพราะอย่างน้อย 150,000 หรือ 200,000 กิโลเมตรในระยะเวลาห้าปี ที่ใช้งานอยู่นั้นไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาที่จะเกิดกับตัวรถ ว่าใครจะเป็นผู้แก้ไขให้เมื่อมีปัญหาพร้อมทั้งค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในขณะนั้น

คุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่ากับการได้รับการขยายเวลา ยืดระยะทางในการรับประกันนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์กันในอนาคต แน่นอนที่ว่าผู้ผลิตหรือบริษัทแม่คงไม่มีปัญหากับสิ่งที่จะเกิดขึ้นเพราะเป็นผู้ร่างกฎเขียนกติกาออกมาเอง ผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงในเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่ศูนย์บริการของตัวแทนจำหน่าย

ก่อนนั้นเมื่อแรกเริ่มการรับประกันที่หนึ่งปีสองหมื่นกิโลเมตรนั้นยังพอรับได้ประกอบกับศูนย์บริการมักจะได้รับเงินชดเชยจำนวนหนึ่งจากจำนวนหรือปริมาณของรถที่เข้ามาใช้บริการ บางที่บางแห่งอาจจะเรียกกันว่า Service Fee เป็นตัวเลขจำนวนเงินที่มากพอจะหล่อเลี้ยงศูนย์บริการให้อยู่ได้ในช่วงเวลาของการให้บริการรถที่อยู่ในระยะรับประกัน

การรับประกันนั้นปกติทั่วๆ ไปแล้วทุกยี่ห้อทุกแบรนด์จากทุกค่ายผลิตจะมีกฎที่ค่อนข้างตายตัวเหมือนๆ กันทุกค่ายคือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการทำการรับประกันให้กับลูกค้านั้นผู้ผลิตจะจ่ายให้เป็นราคาทุนทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นค่าแรงหรือค่าอะไหล่ ค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือจากนั้นเป็นภาระของผู้ดำเนินงาน(ตัวแทนจำหน่าย)จะต้องหาวิธีการเอาเองว่าจะได้มาจากที่ใด

สำหรับตัวแทนจำหน่ายแล้ว แม้ว่าจะให้บริการโดยไม่มีกำไรนั้นก็ยังพออยู่ได้ถ้าเป็นการกำหนดระยะเวลาการรับประกันในแบบเดิมคือหนึ่งปีสองหมื่นกิโลเมตร เพราะการผูกใจลูกค้าเอาไว้หนึ่งปีเพื่อที่จะให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการหลังจากหมดระยะเวลารับประกันเป็นสิ่งที่รอคอยกันได้เมื่อหมดระยะเวลารับประกันแล้วการถอนทุนคืนจากผู้ใช้รถจึงจะเริ่มต้น

แม้ว่าต่อมาการแข่งขันในตลาดจะต่อสู้ช่วงชิงยอดขายอย่างรุนแรงจะเกิดขึ้นจนมีการขยายเวลารับประกันเป็นสองปีสี่หมื่นหรือห้าหมื่นกิโลเมตร อาการเข้าเนื้อกับผู้เป็นตัวแทนจำหน่ายจึงเริ่มเกิดขึ้น เวลาที่ทอดยาวเป็นสองปีก็หมายถึงช่วงเวลาที่จะถอนทุนก็จะต้องยืดออกไป

ในศูนย์บริการของตัวแทนจำหน่ายที่มีการบริหารจัดการที่ดี มีฐานเดิมของลูกค้าหนาแน่นดูเหมือนจะไม่กระไรนักกับการทำแล้วไม่มีกำไรจากการรับประกัน แต่กับตัวแทนจำหน่ายใหม่ๆ ที่ยังไม่มีหรือมีฐานลูกค้าน้อยๆ ต้องกล้ำกลืนฝืนทนกับภาวะของการทำแบบไม่มีกำไร หลายที่หลายแห่งจึงต้องเริ่มมีลูกเล่นกับการให้บริการเพื่อที่จะเพิ่มรายรับมาทดแทนกับส่วนที่ถูกบังคับให้ทำแบบไม่มีกำไร

การยัดเยียดขายสินค้า การถ่วงเวลาในการแก้ปัญหาเพื่อให้รถถึงกำหนดที่หมดเวลารับประกัน เพื่อที่จะอ้างเป็นเงื่อนไขในการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้รถ ปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นกับผู้ใช้รถทุกค่ายทุกยี่ห้อ ที่ทนได้ไม่ยากสืบสาวเอาความก็มีไม่น้อยที่ทวงถามทวงสิทธิของตนเองในฐานะผู้บริโภคจนเป็นเรื่องเป็นราวถึงโรงถึงศาลหรือแม้แต่การทุบรถเพื่อเป็นการทวงถามก็มีออกบ่อยทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว

แม้ว่าจะมีบางที่บางแห่งจากตัวแทนจำหน่ายที่กระทำกันอย่างตรงไปตรงมามีจรรยาบรรณทางการค้าการขายพอสมควรไกล่เกลี่ยปัดเป่าได้พ้นตัวไปชั่วขณะ แต่กับปริมาณรถที่ขายออกไปมากยอดของการที่จะต้องทำการรับประกันก็ย้อนกลับเข้ามามากเป็นภาระในเรื่องต้นทุนของผู้ค้า(ตัวแทนจำหน่าย) ระยะเวลาสองปีพอจะทนกล้ำกลืนเพราะมีรายได้จากยอดขายเข้ามาช่วย

เรื่องมาหนักหนาสาหัสสากรรจ์เอาก็เมื่อการแข่งขันรุนแรงมากขึ้นการขยายระยะเวลารับประกันเป็นสามปีหรือแสนกิโลจึงเกิดขึ้น มาถึงขั้นนี้แล้วศูนย์บริการหรือตัวแทนจำหน่ายที่ยืนยงคงอยู่ได้ก็น่าจะแบ่งออกได้เป็นสองประเภทคืออย่างแรกประเภทที่เขี้ยวลากดินสายป่านยาวกับประเภทที่เรียกว่าโจรในเครื่องแบบ ซึ่งหมายถึงศูนย์บริการที่ต้องทำทุกอย่างให้มีรายได้มาเลี้ยงตนเองให้ได้หลายแห่งมีการพูดกันว่ากฎระเบียบ กฎเกณท์ทั้งจากผู้ผลิตหรือทั้งจากภาครัฐนั้นมีเอาไว้เพื่อให้อ่านเมื่ออ่านเข้าใจแล้วต้องหาวิธีหลบเลี่ยงเพื่อที่จะทำให้มีกำไรมาหล่อเลี้ยง

แรกเริ่มเดิมทีนั้นผู้ใช้รถน่าจะสบายกับการใช้รถ ตัดปัญหาเรื่องการซ่อมดูแลบำรุงรักษาไปสามปี แต่เมื่อหลวมตัวไปใช้บริการแล้วหลายๆ คนอยากจะขายรถทิ้ง หรือเมื่อจะบิดกุญแจติดเครื่อง เข้าเกียร์เหยียบเบรกก็ต้องบนบานศาลกล่าวกันทุกครั้งว่าขอให้รถอย่าได้เป็นอะไรไปเลยในขณะที่ขับใช้งาน ถ้าบุญพาวาสนาส่งก็ขออย่าให้ต้องนำรถเข้าศูนย์บริการเลย สาเหตุต้องตามกันต่อตอน 2 ครับ

 


teentoa.com ขอขอบคุณ
บทความโดย นายประโยชน์
เรียบเรียง ตีนโต ดอทคอม


article [last update 05-01-07]


 
Copyright @ 2005 / Web Designed by : teentoa / Since : 24 April 2006
All Right Reserved, Contact us : webmaster@teentoa.com นายตีนโต 08949-09005