article [last update 09-01-07] อ่าน

ว่าด้วยเรื่องการรับประกัน (ตอน 2)

การยืดเวลาการรับประกันชิ้นส่วนเป็น 3 ปี หรือ 1 แสนกิโลเมตร แน่นอนที่ผู้ใช้รถส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์ ส่วนประโยชน์ที่ได้รับจะคุ้มกันไหมกับสิ่งที่ได้มา หลายๆ คนคงมีคำตอบในใจ และก็แน่นอนที่อีกหลายคนหงุดหงิดเบื่อหน่ายกับการที่จะนำรถเทียวเข้าเทียวออกศูนย์บริการกับปัญหาเดิมๆ ที่เกิดขึ้น จนถึงกับต้องแสดงออกด้วยการประท้วงในรูปแบบที่ต่างกัน แต่เมื่อกล่อมกันจบเรื่องแล้วก็แล้วกัน ต้นเหตุของปัญหาที่เกิดไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาก็จึงวนเวียนอยู่กับผู้ใช้รถคนแล้วคนเล่า

จึงกลายเป็นคำตอบที่ออกมาว่า ศูนย์บริการมักจะไม่แก้ไขในเรื่องของการรับประกัน ถ้ามองในแง่ของธุรกิจจากผู้ประกอบการแล้วก็อาจจะถูกต้อง ที่ว่าทำไปทำไมถ้าขาดทุน งานรับประกันสินค้าไม่ว่าจะเป็นทั้งหมดหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของตัวรถนั้น เป็นงานที่ไม่เกิดผลกำไรให้กับผู้ประกอบการ แต่เป็นภารกิจที่จะต้องกระทำ การแข่งขันทางการขายอันรุนแรงนั้นส่งผลโดยตรงต่อการบริการหลังการขาย ก่อนนี้ศูนย์บริการขาดทุนก็ยังได้กำไรจากการขายมาชดเชย แต่วันนี้ผลต่างหรือผลกำไรจากการขายรถยนต์ต่อหน่วยถูกตัดลงไปจากเดิม แม้จะไม่หักออกจากตัวเลขผลกำไร แต่ก็ถูกหักออกเป็นค่าใช้จ่ายจากบริษัทแม่ในหลายๆ ทาง เช่น ค่าฝึกอบรมพนักงาน ค่าเอกสารค่าตำรา ค่าเครื่องมือพิเศษและอีกจิปาถะที่จะเรียกเก็บเอาจากตัวแทนจำหน่าย ขายรถก็กำไรไม่พอ ทำศูนย์บริการก็ขาดทุน จากเดิมที่ศูนย์บริการเป็นเหมือนน้ำซึมบ่อทราย ก็ถูกแปลงสภาพเป็นบ่อน้ำที่ไม่มีวันเหือดแห้ง

เทคโนโลยีของรถยนต์ก้าวหน้ามากขึ้น องค์ประกอบหรือชิ้นส่วนต่างๆ ก็มีราคาสูงขึ้น ปัญหาที่เกิดจากตัวรถจึงต้องการใช้ความรู้ความชำนาญเข้ามาทำการวินิจฉัยและแก้ไข ถ้าตัดสินใจผิดพลาด มูลค่าของงานชิ้นนั้น ศูนย์บริการหรือตัวแทนจำหน่ายจะเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะบริษัทแม่ถือว่าให้ความรู้มากพอแล้วที่จะแก้ไขปัญหาได้ ผลกรรมจึงตกอยู่กับผู้ใช้รถ ปัญหาใดที่เกิดขึ้นแต่ยังหาข้อสรุปหาคำตอบไม่ได้ ก็จะได้รับคำตอบเบี่ยงเบนหลีกเลี่ยงที่จะไม่เสี่ยงกับการแก้ปัญหา โดยการเปลี่ยนชิ้นส่วน โดยเฉพาะกับชิ้นส่วนที่มีราคาสูง ผู้ใช้รถจึงต้องใช้รถกับสภาพที่ไม่สมบูรณ์พร้อม ทั้งๆ ที่ในสัญญาซื้อขาย ระบุเงื่อนไขและสิทธิที่จะได้รับการรับประกันอย่างละเอียดชัดเจนอยู่แล้ว

ศูนย์บริการหลายๆ แห่งประสบกับปัญหารับไม่พอจ่ายก็ต้องหารายได้มาชดเชย ซึ่งก็ต้องได้มาจากผู้ใช้รถเท่านั้น การยัดเยียดขายวัสดุอุปกรณ์ การขายค่าแรงเพิ่มเติมจึงเกิดขึ้นในศูนย์บริการทุกแห่ง ทั้งๆ ที่เป็นการผิดกฎแต่ก็ต้องทำ บริษัทแม่ก็รับรู้ถึงการเลี่ยงบาลีของศูนย์บริการเหล่านี้ ก็จำเป็นที่จะต้องเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เพราะถ้าเมื่อใดที่ใช้กฎเกณฑ์เข้าไปบังคับเต็มที่ ก็จะถูกเรียกร้องเพิ่มเติมถึงค่าตอบแทนที่จะต้องทำการรับประกันสินค้าที่ขยายระยะเวลาออกไป

เชฟโรเลตและฟอร์ดขยายระยะเวลาออกไปเป็น 5 ปี อาจจะทำให้ยอดขายรถนั้นเพิ่มมากขึ้น ผู้ใช้รถใช้รถได้อย่างสบายใจมากขึ้น แต่กับผู้ซื้อรถหรือใช้รถก่อนหน้านั้นคงจะต้องได้รับความเจ็บปวดในการเข้ารับบริการ ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะไม่มีพ่อค้าคนไหนยอมค้าขายขาดทุนไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ทางเดียวที่จะรอดจากการขาดทุนก็คือการรีดรายได้จากผู้ใช้รถรุ่นก่อนหน้านี้

ผู้ใช้รถที่หมดกรรมหมดเวรจากการรับประกันนั้นแล้ว อาจจะมีทางเลือกที่จะนำรถไปเข้าซ่อมตามอู่ซ่อมอิสระหรือร้านสะดวกซ่อมตามที่ต่างๆ แต่รถยนต์ในปัจจุบันดูเหมือนว่าจะถูกวางยาออกแบบให้ผู้ใช้รถมีทางเลือกไม่มากนัก โดยอ้างเอาเทคโนโลยีมาบีบบังคับให้ผู้ใช้รถต้องกัดฟันเข้ามารับบริการในศูนย์บริการ การปกปิดข้อมูลทางเทคนิคต่อสาธารณะ การบีบบังคับให้ใช้เครื่องมือพิเศษเฉพาะยี่ห้อเฉพาะรุ่น เป็นการบังคับให้อู่หรือร้านสะดวกซ่อมภายนอกต้องมาถึงทางตันในการแก้ไขปัญหา การณ์ก็กลายเป็นว่าซ่อมหรือแก้ไขกันแบบมั่วๆ จึงกลายเป็นว่าผู้ใช้รถไม่ว่าจะหลบไปทางใดก็ถูกโขกถูกฟันกันตลอดเวลา มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่กรรมเวรที่สะสมมาแต่ชาติปางก่อน

การขยายศูนย์บริการเพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างทั่วถึง น่าจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับผู้ใช้รถ แต่กับผู้ประกอบการแล้ว ก็เหมือนการแบ่งเค้กที่มีจำกัดอยู่แล้วให้ได้ก้อนที่เล็กลง ศูนย์บริการหรือตัวแทนจำหน่ายที่เกิดใหม่ ฐานลูกค้าที่มีน้อยแต่จำนวนเงินที่จะลงทุนในการที่จะทำมาค้าขายนั้น ไม่ได้แตกต่างกับศูนย์หรือตัวแทนที่มีฐานลูกค้าหนาแน่นมาก่อน เพราะกฎก็คือกฎ ทุกที่ทุกแห่งต้องถือกฎเดียวกัน ประกอบกับการยืดเวลาของการให้การรับประกันสินค้าออกไปก็หมายถึงการกินก้อนเกลือ ก็ต้องทอดระยะเวลาออกไป ทางเดียวที่ศูนย์บริการจะอยู่ได้ก็คือการควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ในภาวะที่ประหยัดกันอย่างเต็มที่ ทางใดที่จะลดค่าใช้จ่ายลงได้ก็ต้องทำ และในการประกอบธุรกิจแทบจะทุกประเภท การลดค่าใช้จ่ายที่ง่ายที่สุดก็คือเรื่องของอัตราพนักงานและค่าจ้าง

พนักงานหรือลูกจ้างจึงถูกคัดเลือกจากผู้ที่มีค่าใช้จ่ายขององค์กรน้อยที่สุด นั่นก็คือหาคนที่เงินเดือนน้อยๆ มาไว้ให้บริการ เงินเดือนน้อยก็แน่นอนที่ประสบการณ์ก็น้อยลง แต่ต้องให้บริการกับรถยนต์ที่มีราคาสูง มีเทคโนโลยีสูงๆ เมื่อเป็นอย่างนั้นไม่ต้องหลับตาลืมตา ก็พอจะมองเห็นแล้วว่าผลงานของการให้บริการนั้นจะออกมาในรูปแบบใด

ไหนๆ ก็ไหนๆ ร่ายยาวมาถึงขั้นนี้ ก็ต้องขอต่อกันเรื่องของการประกันอุบัติเหตุที่เรียกกันว่าประกันชั้นหนึ่งนั้นเป็นอย่างไร ตามกันตอน 3 เป็นตอนจบครับ

 


teentoa.com ขอขอบคุณ
บทความโดย นายประโยชน์
เรียบเรียง ตีนโต ดอทคอม


article [last update 09-01-07]


 
Copyright @ 2005 / Web Designed by : teentoa / Since : 24 April 2006
All Right Reserved, Contact us : webmaster@teentoa.com นายตีนโต 08949-09005