article [last update 12-01-07] อ่าน

ว่าด้วยเรื่องการรับประกัน (ตอน 3)

การขยายการรับประกันจาก 3 ปี เป็น 5 ปีจาก 1 แสนกิโลเมตร เป็น 2 แสนกิโลเมตร แม้ว่าจะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมที่จะทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเมื่อตอนออกรถใหม่ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้กับผู้ใช้รถ เพราะรถยนต์คันหนึ่งนั้น เมื่อใช้งานผ่านหลักแสนกิโลเมตรไปแล้ว มีรายการที่จะต้องซ่อมต้องเปลี่ยนกันมากมาย โดยเฉพาะกับรถที่มีเทคโนโลยีสูงเช่นในปัจจุบัน ชิ้นส่วนอุปกรณ์ในแต่ละระบบไม่สามารถที่จะซ่อมได้เหมือนอย่างเคย ต้องเปลี่ยนกันเป็นชิ้นเป็นชุด และมักจะมีราคาค่อนข้างสูง การทำประกันในส่วนนี้ไว้ล่วงหน้า น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการใช้รถ

นอกจากเรื่องของการรับประกันชิ้นส่วนจากผู้ผลิตแล้ว ผู้ใช้รถยังต้องมีภาระกับเรื่องของการรับประกันการซ่อมเมื่อเกิดอุบัติเหตุ จึงต้องทำประกันไว้กับบริษัทที่ทำมาหากินในด้านนี้ และที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือการประกันชั้นหนึ่ง แน่นอนที่ค่าเบี้ยประกันหรือค่าคุ้มครองล่วงหน้าก็ต้องจ่ายกันมากขึ้น และที่น่าแปลกใจที่จำยอมต้องจ่ายมากขึ้นก็คือ การประกันแบบซ่อมห้าง เงื่อนไขของการแบบประกันซ่อมห้างนั้นดูเผินๆ แล้วน่าจะดี เพราะการซ่อมห้างในความหมายที่คนใช้รถเข้าใจก็คือ การนำรถที่เกิดอุบัติเหตุไปซ่อมตามร้านหรืออู่ซ่อมที่บริษัทรับประกันนั้นๆ ขึ้นทะเบียนรับรองไว้ว่าเป็นอู่ซ่อมที่ได้มาตรฐาน โดยที่ผู้เอาประกันหวังว่าเมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น จะได้รับการดูแลอย่างดี ชิ้นส่วนที่ต้องเปลี่ยน จะได้รับชิ้นส่วนใหม่ๆ ตรงกับรุ่นที่ต้องการเปลี่ยนจากโรงงาน เพราะเป็นการประกันชั้นหนึ่ง

มีมากมายหลายคนที่ใช้รถอยู่ไม่ได้อ่านไม่ได้สอบถามกันให้ชัดเจนว่า ถ้ามีการเปลี่ยนชิ้นส่วนในการคุ้มครองแบบประกันชั้นหนึ่งนั้น จะได้รับการเปลี่ยนชิ้นส่วนของใหม่ทั้งหมดหรือไม่ ทุกคนรับรู้โดยเข้าใจเอาเองว่าจะต้องได้ของใหม่ โดยที่เจ้าหน้าที่จากบริษัทประกันก็จะหุบปากเอาไว้ โดยไม่แจ้งให้ทราบว่าของใหม่ที่ว่านั้น ถ้าจะต้องเปลี่ยน จะต้องมีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง

รถยนต์ทุกวันนี้ถูกออกแบบมาด้วยเจตนาที่เรียกว่า ให้ปกป้องคุ้มครองผู้ใช้รถหรือที่เรียกกันว่าเอาคนไม่เอารถ การเกิดอุบัติเหตุไม่ว่าจะมากน้อยเพียงใด รถยนต์ในปัจจุบันจึงมีส่วนที่เสียหายต้องซ่อมต้องเปลี่ยนกันมากมาย และแต่ละชิ้นส่วนนั้นมีราคาค่อนข้างสูง การที่จะทำการคุ้มครองชิ้นส่วนเหล่านั้นล่วงหน้าโดยยอมรับเงื่อนไขการรับประกันชั้นหนึ่งเอาไว้ ก็ควรจะเป็นสิ่งที่ต้องกระทำ แม้ว่าจะต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อการซ่อมห้างก็ตาม การซ่อมห้างในความหมายของบริษัทรับประกันก็คือ ห้างหรืออู่หรือศูนย์ซ่อมตัวถังแห่งนั้น จะได้รับการรับรอง ได้รับการคัดเลือกจากบริษัทประกันให้ดำเนินงานข้อบังคับตามที่ได้ตกลงกันไว้ เช่นต้องมีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ถูกต้องสมบูรณ์ทันสมัยกับการนำมาซ่อมรถในปัจจุบัน บุคลากรต้องเป็นคนที่มีความรู้มากพอ กับมีประสบการณ์กับวิทยาการสมัยใหม่ วัสดุที่ใช้ก็ต้องเป็นวัสดุที่ถูกบังคับให้ใช้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานของรถยี่ห้อนั้น รุ่นนั้น ที่ออกมาจากโรงงาน ต่างกันกับอู่ซ่อมทั่วไป (เบี้ยประกันถูกกว่า) ที่ใช้เครื่องมืออุปกรณ์หรือแม้แต่กำลังคนกันแบบตามมีตามเกิด โดยใช้เรื่องราคาของค่าซ่อมมาเป็นตัวดึงดูดลูกค้า นั่นเป็นสิ่งที่ผู้ใช้รถรับรู้ถึงข้อแตกต่างระหว่างซ่อมห้างกับซ่อมอู่ทั่วไป

สิ่งที่ผู้ที่ใช้รถคาดหวังกันก็คือว่า ประกันชั้นหนึ่ง ถ้าเป็นการซ่อมห้างแล้วชิ้นส่วนที่ถูกเปลี่ยนจะต้องเป็นของใหม่เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้เป็นเช่นนั้นในทุกกรณี โดยเฉพาะกับรถใหม่ที่อายุมากกว่า 1 ปี จะเรียกว่าเป็นการหมกเม็ดหรือปกปิดเงื่อนไขก็ได้ ที่ว่าแม้จะเป็นประกันชั้นหนึ่งซ่อมห้าง ชิ้นส่วนที่ถูกเปลี่ยนหลายๆ ชิ้นนั้น บริษัทประกันสามารถที่จะจัดหาของเทียมที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับของแท้เพื่อที่จะนำมาทดแทน บางที่บางแห่งร้ายกว่านั้น ชิ้นส่วนจะจัดหามาเพียงให้มีคุณสมบัติที่ใช้งานได้เท่านั้น (ติดเครื่องได้ รถวิ่งได้) โดยไม่ทราบว่าความหมายของคำว่าใช้งานได้นั้นใช้ได้นานเท่าไร มีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด

จะเห็นได้ว่า บริษัทประกันเดี๋ยวนี้มีแผนกจัดหาจัดส่งชิ้นส่วนให้กับคู่ค้าคืออู่ซ่อม การซื้อรถใช้แล้วมาชำแหละ มาตัดหัวตัดหางเพื่อคัดเลือกอะไหล่ชิ้นส่วนส่งให้กับคู่ค้า แม้จะได้ชื่อว่าขึ้นห้าง จึงมีด้วยกันแทบจะทุกบริษัทประกัน

การจัดส่งจัดหาชิ้นส่วนอุปกรณ์ให้กับอู่หรือห้าง ก็เท่ากับว่าอู่หรือห้างเหล่านั้นทำงานได้ แต่เป็นเพียงลูกจ้างของบริษัทประกัน ส่วนต่างจากผลกำไรอู่หรือห้างจึงหดหายไป สิ่งที่เหลือเป็นเพียงแค่ค่าแรงรับจ้างทำของ กำไรหดหายจากส่วนนี้ อู่หรือห้างจึงต้องเบียดบังเอาจากวัสดุและอุปกรณ์เช่นสีจริง สีพื้น สีโป๊ว หลายๆ อู่ที่เรียกว่าห้างนั้น อาจจะมีเพียงกระป๋องสียี่ห้อหรือคุณภาพตามที่ถูกกำหนดไว้ แต่ภายในกระป๋องเป็นสีที่มีราคาและคุณภาพแตกต่างกันไปตามผลกำไรที่เกิดขึ้น แน่นอนที่ไม่เป็นเช่นนี้ทั้งหมด ทุกศูนย์ทุกอู่ทุกบริษัทรับประกัน แต่จะมีผู้ใช้รถคนใดทราบได้บ้างว่าอู่ไหนบริษัทไหนที่รักษากฎรักษาเกณฑ์ตามจริยธรรมของการค้าขาย

สิ่งที่ผู้ใช้รถจะทำได้มีเพียงอย่างเดียว ก่อนที่จะจ่ายเบี้ยประกันก็คือ หาข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ว่าเงินของเราที่จ่ายออกไปนั้นได้รับผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า คอลัมน์นี้ หรือผมเองนั้นแนะนำได้แต่เพียงว่าก่อนที่จะลงนามเพื่อขยายเวลาการรับประกันสินค้าจากผู้ผลิตหรือลงนามเพื่อที่จะซื้อการคุ้มครองจากบริษัทประกัน อ่านเงื่อนไขสัญญาให้ทะลุปรุโปร่งเข้าอกเข้าใจทุกตัวอักษร แม้เราจะพบว่าในหลายเงื่อนไขหลายข้อความ เราจะถูกเอาเปรียบ ไม่มีสิทธิและอำนาจที่จะไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขและข้อสัญญานั้นก็ตาม ขอให้ถาม ถามจนกว่าจะพอใจ เพราะไม่อย่างนั้นจะเป็นข้อคาใจไปตลอดการใช้รถ ว่าทำไมประกันชั้นหนึ่งซ่อมห้างแล้วชิ้นส่วนที่ได้รับการเปลี่ยนไปแล้วยังกลายเป็นของมือสอง

็ขอให้ผู้ใช้รถทุกท่านพบกับความสมหวัง มีความสุขจากการใช้รถตลอดไป แต่กับผีกระสือผีเปรตที่สิงสู่หลอกหลอนอยู่ตามอู่ตามศูนย์บริการตามโชว์รูม ตามเต็นท์รถ จงเสื่อมสูญสิ้นพันธุ์ไม่ต้องพบต้องเจอกันในปีหน้า หรือปีไหนๆ โอมเพี้ยง.


teentoa.com ขอขอบคุณ
บทความโดย นายประโยชน์
เรียบเรียง ตีนโต ดอทคอม


article [last update 12-01-07]

 
Copyright @ 2005 / Web Designed by : teentoa / Since : 24 April 2006
All Right Reserved, Contact us : webmaster@teentoa.com นายตีนโต 08949-09005