article [last update 26-01-07] อ่าน

เรื่องของเบรก (ตอน 1)

ผมติดเกาะอยู่ในช่วงเวลาของน้ำท่วมใหญ่เมื่อก่อนสิ้นปี มีเวลาว่างมากพอที่จะสำรวจดูว่าที่ผ่านมานั้น ผมยังไม่ได้นำเสนอเรื่องอะไรบ้าง ที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ ก็พบเข้าจนได้ ผมยังไม่เคยพูดหรือเขียนถึงเรื่องของเบรกในรถยนต์อย่างจริงๆ จังๆ เลย ทั้งๆ ที่เบรกในรถยนต์นั้นเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง

แม้วันนี้จะผ่านวันเวลาของปีใหม่ 2007 มาแล้ว ดูทิศทางแนวโน้มของรถยนต์ในบ้านเรา คงไม่มีอะไรใหม่ให้พูดถึงมากนัก โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมใหม่ๆ ที่คนใช้รถบ้านเราจะต้องใช้เท่าที่มีอยู่ก็เป็นเรื่องเก่า เป็นเทคโนโลยีที่ทำออกมาขายเพื่อรอวันเวลาของการเปลี่ยนหรือปฏิวัติยานยนต์กันใหม่ ในเรื่องของเชื้อเพลิงที่จะนำมาใช้ จึงขอนำเสนอเรื่องราวของเบรกในรถยนต์ตั้งแต่ระบบพื้นฐานไปจนถึงระบบหรือแบบที่ทันสมัยที่สุดในเวลานี้ อย่างน้อยที่สุดทุกท่านที่ใช้รถอยู่จะได้รู้ว่าระบบเบรกเป็นอย่างไร ก็จะช่วยได้มากในเรื่องของการใช้งานและบำรุงรักษา อาจจะหลายตอนจบ แต่จะพยายามเรียบเรียงให้เข้าใจง่ายๆ สำหรับผู้ที่ใช้รถแต่ไม่มีความรู้เรื่องรถมากมายนัก

รถสวยทันสมัยราคาหลายล้าน ถ้าไม่มีเบรกก็ไม่ต่างไปจากเศษเหล็กที่ทาสี รถดี รถแรง ถ้าระบบเบรกไม่สมบูรณ์ เมื่อออกวิ่งอยู่บนถนนก็ไม่ต่างจากเพชฌฆาตที่พร้อมจะทำลายทั้งคนและสิ่งของ เรื่องของเบรกเป็นเรื่องที่สำคัญของการใช้รถอันดับแรก สำคัญมากกว่าการกำหนดระยะเวลาการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง บรรทัดต่อไปจะนำเสนอเรื่องราวของเบรกทุกแง่มุม รวมทั้งตัวช่วยต่างๆ ที่เกิดขึ้นจาก พื้นฐานของระบบเบรก
เบรกทำงานอย่างไร

เมื่อคุณต้องการหยุดรถหรือชะลอรถ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ แตะ กด เหยียบไปที่แป้นเบรก (Brake Pedal) น้ำหนักเท้าที่คุณสัมผัสกับแป้นเบรกที่เป็นชิ้นส่วนของระบบกลไกนั้น จะส่งแรงไปยังแม่ปั๊มเบรก (Master cylinder) ที่ภายในประกอบด้วยลูกสูบ ลูกยางและน้ำมันเบรก แรงจากแป้นเบรกมาที่ชุดลูกสูบเบรก สร้างน้ำมันในแม่ปั๊มเบรกให้มีแรงดันสูงกระจายไปตามท่อทางน้ำมันเบรก ส่งไปที่ชุดลูกสูบของแต่ละล้อเพื่อให้ชุดลูกสูบที่ล้อเหล่านั้นทำงาน (สั่งงาน) ให้ผ้าเบรกเคลื่อนตัวออกจากที่ตั้งไปจับกับจานเบรก จนกระทั่งจานเบรกหยุดหมุนก็จะทำให้ล้อหยุดหมุนด้วย

ที่ขาแป้นเบรกจะมีสวิตช์ไฟฟ้าเพื่อส่งกระแสไฟไปที่หลอดไฟเบรกที่ติดตั้งอยู่ในชุดของไฟท้าย เมื่อแป้นเบรกมีแรงมากระทำต่อเนื่องไปถึงขาเบรก จะทำให้กระแสไฟฟ้าที่สวิตช์ไฟเบรก (Brake light switch) ครบวงจร ไฟเบรกด้านท้ายนั้นก็จะสว่างขึ้นเพื่อบอกให้รถคันหลังได้ทราบว่ารถกำลังจะหยุด

ในยุคของการใช้เพียงแรงเท้ากับน้ำมันเบรกเพื่อให้รถหยุด ชุดที่เป็นส่วนประกอบที่ล้อทั้ง 4 นั้น จะเป็นระบบเบรกที่เรียกกันว่า เบรกดรัม (Drum brake) ทั้ง 4 ล้อ ที่ชุดของดรัมเบรกนี้ก็จะประกอบด้วยจานเบรก (Drum) ผ้าเบรก (Shoes) ลูกสูบเบรกหรือปั๊มล้อ (Wheel cylinder)

รถยนต์พัฒนาเพื่อให้มีความเร็วสูงขึ้น จากระบบเดิมที่รถใช้ความเร็วไม่สูงมากนัก ระบบเบรกที่ใช้น้ำมันกับเรี่ยวแรง (แรงกด) ของคนขับเพียงอย่างเดียวก็เอาอยู่ กลายเป็นว่าต้องมีตัวช่วยเพิ่มขึ้นเพื่อหยุดรถที่แรงมากขึ้น
ตัวช่วยที่เอามาเพิ่มเป็นตัวแรกก็คือระบบสุญญากาศ โดยมีอุปกรณ์ตัวหนึ่งที่เรารู้จักกันว่าหม้อลม (Brake booster) อุปกรณ์ชิ้นนี้จะเป็นระบบกลไกภายใน มีแผ่นยาง มีสปริง มีลิ้น ต่อร่วมจากขาเบรก มีท่ออากาศหรือท่อลมที่ต่อออกมาจากเครื่องยนต์ และต่อร่วมเข้ากับแม่ปั๊มเบรก ในขณะที่เครื่องยนต์ติดเครื่องอยู่นั้น จะเกิดสุญญากาศในหม้อลม

ทันทีที่เท้าคุณแตะที่แป้นเบรก สวิตช์ไฟเบรกทำงาน แรงที่คุณแตะที่แป้นเบรกก็จะไปทำให้หม้อลมเกิดแรงดัน แรงดันนั้นก็จะไปบังคับให้แม่ปั๊มเบรกทำงานส่งน้ำมันเบรกด้วยแรงดันสูงไปยังล้อทั้ง 4 เพื่อให้กลไกเบรกที่ล้อทั้ง 4 ทำงานด้วยแรงจับที่เพิ่มมากขึ้น โดยที่คุณออกแรงน้อยกว่าเดิม เพราะหม้อลมนั้นจะมาเป็นตัวช่วยผ่อนแรงให้กับคุณ

เบรกพัฒนาตามความเร็วของรถ เบรกแบบดรัมเบรกพร้อมหม้อลมก็ถูกเปลี่ยนมาเป็น ระบบเบรกแบบใช้จาน (Disc) แรกเริ่มเดิมทีนั้น ก็เป็นการใช้ดิสก์กันเฉพาะ 2 ล้อหน้า ล้อหลังยังเป็นแบบเดิมๆอยู่

การเปลี่ยนจากดรัมเบรกมาเป็นดิสก์เบรกนั้น กล่าวกันว่าประสิทธิภาพในการจับของผ้าเบรกที่มีต่อจานเบรกดีขึ้น พร้อมๆ กับผลที่ได้คือดูแลบำรุงรักษาง่าย ที่สำคัญคือไม่ต้องมีการปรับตั้ง

มีรถยนต์จากผู้ผลิตหลายยี่ห้อที่ใช้เบรกหน้าเป็นดิสก์เบรกและเบรกหลังเป็นแบบดรัมเบรก และก็เช่นกันที่มีอีกหลายยี่ห้อหลายรุ่นที่เป็นดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ

ในระบบเบรกแบบที่ใช้หน้าดิสก์ หลังดรัมหรือดิสก์ทั้ง 4 ล้อโดยมีหม้อลมช่วย ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการเบรกอย่างรุนแรงหรือเบรกฉุกเฉิน เมื่อเบรกหรือกดหรือเหยียบเบรกก็จะทำให้ล้อทั้ง 4 หยุดหมุนที่เรียกว่าล้อล็อก เมื่อล้อทั้ง 4 หยุดหมุนทันทีทันใดไม่ได้หมายความว่าตัวรถทั้งคันจะหยุดนิ่งทันที

เมื่อล้อหยุดหมุน (ล้อล็อก) ตัวรถยังคงเคลื่อนที่ด้วยแรงเฉื่อยไปตามทิศทางที่รถมุ่งไปแต่เดิม ในสถานการณ์อย่างนี้ การบังคับทิศทางของรถนั้นจะกระทำไม่ได้ ต้องปล่อยให้ตัวรถนั้นเคลื่อนที่ไปด้วยแรงเฉื่อยจนกว่าจะหมดแรง

ในขณะนั้น ถ้ามีสิ่งกีดขวางอันจะทำให้เกิดอันตราย การเคลื่อนที่ของตัวรถก็ไม่สามารถที่จะหลบหลีกจากการล็อกของล้อได้ ก็จึงต้องมีตัวช่วยเพื่อมาแก้ไขจุดอ่อนอันนี้ ที่ในปัจจุบัน เรารู้จักกันในชื่อของอุปกรณ์ป้องกันการล็อกของล้อ หรือ ABS (Anti-lock Braking System) เราจะมาว่ากันต่อตอน 2 ครับ


teentoa.com ขอขอบคุณ
บทความโดย นายประโยชน์
เรียบเรียง ตีนโต ดอทคอม


 


article [last update 26-01-07]


 
Copyright @ 2005 / Web Designed by : teentoa / Since : 24 April 2006
All Right Reserved, Contact us : webmaster@teentoa.com นายตีนโต 08949-09005