article [last update 06-02-07] อ่าน

เรื่องของเบรก (ตอน 2)

ก่อนจะไปที่ตัวช่วยเบรกตัวแรกคือ ABS เรามาดูกันว่าระบบเบรกทั่วๆ ไปนั้นมีปัญหาอะไรบ้างและปัญหานั้นๆ เกิดจากอะไรและควรจะแก้ไขกันอย่างไร ระบบเบรกจึงจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

แป้นเบรก (Brake pedal)
ตัวแป้นเบรกไม่ทำให้เกิดปัญหาอะไรแต่ในการขับรถต้องระมัดระวังว่าจะไม่มีวัสดุ สิ่งของ ของใช้ไปอยู่บนพื้นใต้แป้นเบรกเป็นอันขาด เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วคุณจะเหยียบเบรกไม่ได้ ปัญหาอีกประการของแป้นเบรกส่วนมากจะเป็นรถรุ่นเก่าๆ ที่ปลายสุดของแป้นเบรก จะมีก้านเหล็ก (Rod) แหย่เข้าไปที่หม้อลมเบรก ที่โคนของก้านเหล็กนี้ติดอยู่กับขาก้านเบรกจะทำเป็นเกลียวไว้เพื่อปรับระยะสั้นยาวของก้านเหล็กได้ ในรถรุ่นเก่าอาจจะต้องมีการปรับตั้งก้านเหล็กตัวนี้ (ส่วนมากในกรณีที่เบรกต่ำ)

แต่ปัจจุบันรถที่เป็นดิสก์เบรกไม่ว่าจะเพียงสองล้อหน้าหรือทั้งสี่ล้อพร้อมหม้อลมไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องไปปรับตั้งกันอีกแล้ว ถ้ามีช่างคนใดที่ไหนขันอาสาที่จะปรับตั้งเพื่อแก้ปัญหาเบรกต่ำ เป็นการแก้ปัญหาที่ผิด เพราะการปรับตั้งให้ยาวขึ้นเพียงหนึ่งหรือสองมิลลิเมตร จะทำให้เกิดอาการเบรกติด เบรกยันได้ ซึ่งก็คือผ้าเบรกจะจับกับจานเบรกอยู่ตลอดเวลา

หม้อลมเบรก (Brake booster)
เป็นอุปกรณ์สำคัญตัวหนึ่งที่จะช่วยให้เบรกมีประสิทธิภาพดีขึ้นโดยใช้แรงกดน้อยลง หม้อลมเสียหรือเสื่อมสภาพก็จะเกิดอาการเบรกแข็ง (ออกแรงเหยีบเบรกเต็มที่แล้วแป้นเบรกไม่ยุบหรือยุบน้อยลง) การแก้ไขก็คือการเปลี่ยนหม้อลมใหม่ ในบางยี่ห้ออาจจะมีชุดซ่อมให้ใช้ซ่อมหรือเปลี่ยนเฉพาะตัวที่หมดสภาพได้ง่ายๆ เช่นแผ่นยางไดอะแฟรม สปริง

หม้อลมเบรกนี้จะถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับรถแต่ละคันสัมพันธ์กันกับแรงที่จะเหยียบ แรงที่จะไปผลักดันให้แม่ปั๊มเบรกทำงาน การที่จะเปลี่ยนหม้อลมเบรกให้ใหญ่ขึ้นก็ต้องพิเคราะห์และใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งเพราะหม้อลมที่ใหญ่ขึ้นผ้าเบรกก็จะจับกับจานเบรกเร็วขึ้นแรงขึ้นโอกาสที่จะเกิดการ ล็อกของเบรกเป็นไปได้สูงอันตรายที่จะเกิดการ หมุนของรถเมื่อเบรก กะทันหัน มีมากหรือแม้แต่ในการเบรกแบบเบาๆ การหัวสั่นหัวคลอนของผู้โดยสารก็จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ที่หม้อลมเบรกเช่นกันในรถรุ่นใหม่ๆ บางรุ่นบางยี่ห้อจะย้ายสวิตช์ไฟเบรกจากแป้นเบรกมาติดตั้งไว้ หลักการทำงานคร่าวๆ ก็เป็นเช่นเดียวกับที่ติดตั้งไว้ที่ขาของแป้นเบรก

ที่ด้านหน้าของหม้อลมเบรกจะยึดติดแน่นกับแม่ปั๊มเบรกโดยที่หม้อลมเบรกจะมีก้านเหล็กอีกหนึ่งก้านแหย่เข้าไปที่แม่ปั๊มเบรก เพราะเมื่อกลไกในหม้อลมทำงานเพื่อส่งแรงดันผ่านไปตามก้านเหล็กเพื่อบังคับให้แม่ปั๊มเบรกสร้างแรงดันน้ำมันเบรกไปยังล้อทั้งสี่

ที่ก้านเหล็กชิ้นนี้สำคัญเช่นกันมักจะมีเกลียวให้ปรับแต่งได้ แต่ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะไปแตะต้องไม่ว่าเบรกจะต่ำจะสูงก็ไม่เกี่ยวกับการปรับก้านเหล็กชิ้นนี้ จึงเป็นข้อห้ามในการปรับตั้งแบบสุ่มสี่สุ่มห้าถ้าตั้งผิดเบรกติดหรือเบรกหายเป็นอันตรายกับผู้ขับ ถ้าจำเป็นต้องมีการปรับตั้งต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

แม่ปั๊มเบรก (Brake master cylinder)
เป็นอุปกรณ์สำคัญของระบบเบรกภายใน แม่ปั๊มเบรกจะมีชิ้นส่วนย่อยๆ ไม่กี่ชิ้นเช่นลูกสูบลูกยางสปริง บนแม่ปั๊มเบรกจะเป็นกระป๋องน้ำมันเบรกที่จำเป็นต้องใช้สร้างแรงดันไปยังล้อทั้งสี่ แรงดันเกิดขึ้นจากการเคลื่อนที่ของลูกสูบในแม่ปั๊ม ปัญหาที่เกิดขึ้นจากแม่ปั๊มเบรกมีไม่มากแต่ก็ให้เกิดอันตรายอย่างยิ่งยวดแก่ผู้ใช้เช่น

เบรกต่ำ ถ้าแน่ใจได้ว่าการปรับตั้งระยะห่างของผ้าเบรกกับจานเบรกในล้อหลัง (ดรัมเบรก) ถูกต้องเบรกยังต่ำอยู่จุดแรกที่จะต้องพิจารณาก็คือแม่ปั๊มเบรก เป็นไปได้สูงที่ลูกยางของลูกสูบในแม่ปั๊มเบรกหรือในกระบอกเบรกเสื่อมสภาพอ่อนนุ่มไม่สามารถที่จะสร้างแรงดันน้ำมันเบรกได้ทำให้เกิดการรั่วภายใน

อาการเบรกต่ำที่เกิดจากแม่ปั๊มเบรกเสื่อมสภาพก็คือเมื่อคุณเหยียบเบรกระยะจากแป้นเบรกไปจนถึงจุดที่แม่ปั๊มเบรกจะส่งแรงดันไปยังล้อนั้นต้องใช้ระยะทางมาก

การแก้ไขชั่วคราวก็คือต้องเหยียบเบรกกันหลายๆ ครั้ง (ย้ำเบรก) แม่ปั๊มจึงสามารถที่จะสร้างแรงดันได้เป็นปกติ เมื่อรถมีอาการเบรกต่ำอย่านิ่งนอนใจ ต้องรีบหาทางแก้ไข โดยการเปลี่ยนแม่ปั๊มเบรก หรือเปลี่ยนชุดซ่อมในแม่ปั๊ม อาการนี้จะเกิดขึ้นหลังจากใช้รถมาเป็นระยะเวลามากกว่า 60,000 กิโลเมตรขึ้น และส่วนมากเกิดจากการที่ผู้ใช้รถขาดการเอาใจใส่ดูแลในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรกตามระยะเวลา และใช้น้ำมันเบรกที่ไม่มีคุณภาพ เราจะมาว่ากันต่อตอน 3 ครับ



teentoa.com ขอขอบคุณ
บทความโดย นายประโยชน์
เรียบเรียง ตีนโต ดอทคอม


 

article [last update 06-02-07]


 
Copyright @ 2005 / Web Designed by : teentoa / Since : 24 April 2006
All Right Reserved, Contact us : webmaster@teentoa.com นายตีนโต 08949-09005