article [last update 09-02-07] อ่าน

เรื่องของเบรก (ตอน 3)

เบรกจม หรือเบรกหาย เป็นอาการที่อันตรายสำหรับผู้ใช้รถเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นได้เมื่อไร อาการเช่นนี้ ช่างหรือผู้ใช้รถจะพูดรวมๆ กันว่า เบรกแตก (รายละเอียดจะกล่าวต่อไป)

สาเหตุ ก็เกิดจากอาการแรกคือการรั่วภายในแล้วทำให้เบรกต่ำ เมื่อมีอาการเบรกต่ำ แล้วยังไม่ได้รับการแก้ไข ก็คืออาการขั้นสุดท้ายคือเบรกจม อาการนี้จะเกิดขึ้นทันทีที่เราเหยียบเบรกแล้วแป้นเบรกจมยุบลงไปติดพื้น เพราะแม่ปั๊มเบรกไม่สามารถที่จะสร้างแรงดันไปยังล้อทั้งสี่ได้ เบรกจม เบรกหายเกิดขึ้นได้ทั้งในกรณีที่เบรกอย่างกะทันหัน รุนแรง หรือค่อยๆ เบรก

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นกันบ่อยครั้งก็คือ ในขณะที่รถติดไฟแดงอยู่นั้น แป้นเบรกที่ถูกกดอยู่ตลอดเวลาจะค่อยๆ ยุบตัวลง ถ้าไม่สังเกตอาจจะไม่พบกับอาการนี้ ลองคิดดูว่าในขบวนรถที่จอดเรียงแถวติดไฟแดงอยู่นั้น ทันทีที่ได้รับสัญญาณไฟเขียว คันข้างหน้าออกรถออกไป รถของเราขับตามไปแบบที่เรียกว่ากันชนต่อกันชน คันหน้ามีความจำเป็นต้องหยุดรถ เราก็ต้องหยุดตามโดยการเหยียบเบรก และเมื่อเรากดที่แป้นเบรกมีความรู้สึกว่าเหมือนพบกับความว่างเปล่า แป้นเบรกจมลงไปติดพื้น แน่นอนที่ในการขับแบบนี้ เบรกหาย เบรกจม ไม่ถึงกับเป็นอันตรายต่อร่างกายกับผู้ขับ แต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการชนท้ายก็มีไม่น้อย

ทางแก้ไขมีอย่างเดียว คือต้องเปลี่ยนแม่ปั๊มเบรก คนใช้รถควรจะฝึกให้เป็นนิสัยทุกครั้งก่อนออกรถ หลังจากติดเครื่องต้องเหยียบเบรกดูสักสองสามครั้งก่อนออกรถ ว่าเบรกหรือแม่ปั๊มเบรกนั้นยังทำงานดีอยู่หรือเปล่า ถ้าเป็นภาษาของผู้ใช้รถยุคก่อนๆ เขาจะพูดกันว่า ถามเบรก ก่อนออกรถ

เบรกมีลม เป็นอาการเบรกต่ำอีกชนิดหนึ่ง ส่วนมากแล้วจะเกิดขึ้นจากการซ่อมบำรุงรักษาในระบบเบรกมาก่อน ที่ปล่อยให้มีอากาศเข้าไปในระบบของทางเดินน้ำมันเบรก อาการนี้จะเกิดขึ้นจากการที่เราเหยียบเบรกแช่ไว้แล้วแป้นเบรกค่อยๆ ยุบตัวต่ำลง และเมื่อเราย้ำเบรกหรือเหยียบเบรกหลายๆ ครั้ง แป้นเบรกก็จะขึ้นมาอยู่ในระดับสูงอย่างเดิมต่อเมื่อเรากดแป้นเบรกคาไว้ แป้นเบรกก็จะค่อยๆ จมต่ำลง ถ้าพบกับอาการแบบนี้ พอจะสรุปได้ว่ามีลมอยู่ในระบบเบรก การแก้ไขก็ต้องทำการไล่ลมเบรกออกให้หมด เช่นกันที่ต้องใช้ผู้ชำนาญ

ท่อเบรก ท่ออ่อนเบรก (Fluid pipe &Flexible hose)
จากแม่ปั๊มเบรก จะมีท่อทางน้ำมัน (Pipe) ทำด้วยทองแดง หรือเหล็กสองสามท่อหรือมากกว่าต่อไปยังล้อทั้งสี่ (หรือในรุ่นที่มีตัวช่วยที่เรียกว่าเอบีเอส จากแม่ปั๊ม จะต่อไปที่ชุดควบคุมเอบีเอส (ABS Control unit) ก่อนไปเข้าล้อทั้งสี่ ท่อน้ำมันเบรกนี้ในล้อหน้าจะไปหยุดอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งของระบบช่วงล่าง และจากจุดนั้นไปจะเป็นท่ออ่อน (Flexible hose) ปลายอีกข้างของท่ออ่อนนี้จะไปต่อเข้ากับปั๊มล้อ Wheels cylinder หรือ Front Wheel Calipers ก็เป็นการสิ้นสุดทางเดินน้ำมันจากแม่ปั๊มเบรก

ในล้อหลังที่เป็นรถที่ใช้ระบบคานแข็ง อาจจะมีท่ออ่อนหรือไม่มีท่ออ่อน ต่อจากแป๊บน้ำมันเบรกก็ได้แล้วแต่การออกแบบ แต่รถที่ใช้ระบบล้อหลังเป็นอิสระ ก็จำเป็นจะต้องมีท่ออ่อนต่อเอาไว้ก่อนเข้าไปที่ปั๊มล้อ Rear wheels cylinder หรือ Rear wheels calipers

รถยนต์ที่ผ่านการใช้งานมามากกว่า 80 หมื่นกิโลเมตร และไม่เคยเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรกมาก่อนหรือการใช้น้ำมันเบรกที่ไม่มีคุณภาพ อาจจะทำให้ท่ออ่อนนี้อุดตันได้ การอุดตันในท่ออ่อนนี้ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดด้วยกันสองสาเหตุ คือ น้ำมันเบรกเสื่อมสภาพ ใช้งานมานานจนทำให้เกิดความข้นเหนียวเป็นโคลนสะสมไว้ในท่อน้ำมันโดยเฉพาะกับท่ออ่อน

อีกประการหนึ่งคือการเสื่อมสภาพของตัวท่ออ่อนเอง เกิดการสึกกร่อนภายใน ตัวท่ออ่อนทำจากยาง การสึกกร่อนของยางก็จะทำให้เศษชิ้นส่วนของยางนั้นมาอุดอยู่ที่ปลายท่อ ทำให้แรงดันน้ำมันเบรกจากแม่ปั๊มเบรกเดินทางเข้าสู่ปั๊มล้อไม่สะดวก อาการที่เกิดขึ้นก็คือเบรกปัด หรือเบรกกินไปข้างใดข้างหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อขับรถด้วยความเร็วปานกลางค่อนข้างสูงแล้วชะลอรถด้วยการค่อยๆ แตะเบรก รถจะเสียการทรงตัวโดยปัด หรือกินไปข้างใดข้างหนึ่ง อาการนี้มักจะไม่แสดงออกในกรณีที่เบรกอย่างฉุกเฉินและรุนแรง เพราะการเบรกอย่างรุนแรง แม่ปั๊มจะสร้างแรงดันที่สูงมากพอที่จะทำให้น้ำมันผ่านสิ่งกีดขวางไปได้

เมื่อมีการถอดผ้าเบรกออกทำความสะอาดหรือเปลี่ยนผ้าเบรก ต้องสังเกตด้วยว่าผ้าเบรกทั้งสองล้อในดิสก์เบรกที่มีด้วยกันสี่ชิ้นนั้น มีการสึกหรอที่เท่าๆ กันหรือไม่ เช่นเมื่อถอดผ้าเบรกของล้อด้านขวาซึ่งมีผ้าเบรกอยู่สองชิ้นเรียกว่าชิ้นนอกชิ้นใน ถ้าพบว่าผ้าเบรกทั้งสองชิ้นสึกไม่เท่ากันหรือทั้งสองชิ้นสึกเท่ากันแต่สึกไม่เท่ากับผ้าเบรกของล้ออีกข้างหนึ่งล้อ ก็สันนิษฐานในเบื้องต้นไว้ก่อนว่า สายอ่อนอาจจะอุดตัน คำว่าอุดตันในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าอุดตันอย่างสิ้นเชิง เพียงแต่อุดตันในแบบที่เรียกว่ามีชิ้นส่วนไปกีดขวางทางเดินของน้ำมันเบรก ถ้าเป็นรถที่ใช้งานมานานแล้ว ควรจะตัดสินใจเปลี่ยนสายอ่อนนี้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม การที่จะวินิจฉัยว่าสายอ่อนเสื่อมสภาพหรืออุดตัน เมื่อพบว่าผ้าเบรกสึกไม่เท่ากันนั้น ต้องพิเคราะห์องค์ประกอบอื่นๆ ด้วย เช่น ปั๊มล้อ แม่ปั๊มเบรก ประกอบไปด้วย แต่ข้อที่ควรทำก็คือเมื่อพบสิ่งผิดปกติและอายุรถใช้มานานแล้ว การตัดสินใจที่จะเปลี่ยนสายอ่อนน่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องแม้ว่าจะไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริง

 


teentoa.com ขอขอบคุณ
บทความโดย นายประโยชน์
เรียบเรียง ตีนโต ดอทคอม


 

article [last update 09-02-07]


 
Copyright @ 2005 / Web Designed by : teentoa / Since : 24 April 2006
All Right Reserved, Contact us : webmaster@teentoa.com นายตีนโต 08949-09005