article [last update 00-00-07] อ่าน

เรื่องของเบรก (ตอน 4)

อุปกรณ์สำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่จะทำให้เบรกมีประสิทธิภาพตามที่ได้ถูกออกแบบไว้ คือ ปั๊มล้อ (Brake calipers และ Wheel cylinders)

ช่างสมัยก่อนจะเรียกว่า ปั๊มล้อ แต่ในปัจจุบันที่รถยนต์เกือบทั้งหมดใช้ระบบเบรกที่เรียกว่าดิสก์เบรก หรือ เบรกแบบจาน ปั๊มล้อก็เลยถูกเรียกทับศัพท์ไปเลยว่า คาลิเปอร์ เช่นเดียวกับที่เป็นดิสก์ทั้งสี่ล้อ ส่วนในล้อหลังสำหรับบางยี่ห้อบางรุ่นที่ยังเป็นแบบดรัมเบรกอยู่นั้น ก็ยังคงเรียกว่า ปั๊มล้อ อยู่

คาลิเปอร์ในเบรกหน้าทั้งซ้ายขวา ส่วนใหญ่แล้วจะแบ่งออกเป็นสองแบบ คือ แบบจม และแบบลอยตัว รายละเอียดความแตกต่างของทั้งสองแบบ ไม่ขอนำมากล่าวไว้ที่นี้ เพราะไม่ว่าจะเป็นแบบใดหลักการทำงานเหมือนกันหมด และดิสก์ทั้งสองแบบนั้นยังแยกย่อยออกได้เป็นอีกสองชนิดคือ แบบลูกสูบเดี่ยว และ ลูกสูบคู่ เช่นกันที่รายละเอียดความแตกต่างขอยกไว้ไม่กล่าวถึง เพราะหลักการทำงานไม่ได้แตกต่างกัน ในคาลิเปอร์จะประกอบไปด้วยส่วนสำคัญสองส่วน คือ ลูกสูบและลูกยาง

ทันทีที่แป้นเบรกถูกแตะ หม้อลมจะเริ่มทำงานส่งแรงดันไปที่แม่ปั๊มเบรก แม่ปั๊มเบรกจะส่งแรงดันไปตามท่อน้ำมันเบรกผ่านท่ออ่อนเข้าไปในตัวคาลิเปอร์ เพื่อที่จะไปผลักดันให้ลูกสูบเบรกทำงานโดยการผลักผ้าเบรก (Brake pad) เลื่อนเข้าไปจับกับจานเบรก หนักเบาแค่ไหนก็ขึ้นอยู่น้ำหนักที่กดไปบนแป้นเบรก

ลูกสูบของคาลิเปอร์ จะไม่มีตำแหน่งที่ตายตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความหนาบางของผ้าเบรก ถ้าผ้าเบรกยังคงความหนา (สึกหรอน้อย) ลูกสูบเบรกก็จะจมอยู่ในเสื้อของคาลิเปอร์ ถ้าผ้าเบรกบางลูกสูบก็จะโผล่ออกมาจากตัวเสื้อคาลิเปอร์ โดยมีน้ำมันเบรกในระบบมาคอยดันไว้ไม่ให้ลูกสูบคืนกลับ

ข้อดีของเบรกแบบจานหรือดิสก์เบรกนี้ก็คือ เมื่อผ้าเบรกสึกหรอ ลูกสูบก็จะเคลื่อนที่ออกมาตามระยะของการสึกหรอ จึงไม่จำเป็นต้องมีการปรับตั้ง

ปัญหาที่เกิดจากเบรกในระบบนี้ที่เกิดจากตัวคาลิเปอร์ก็คือ ลูกสูบของคาลิเปอร์ที่โผล่ยื่นออกมาตามความหนา-บางของผ้าเบรกนั้น จะสกปรกจากฝุ่นละออง น้ำได้ง่าย แม้จะมียางกันฝุ่นหุ้มอยู่อีกชั้นหนึ่งก็ตาม แม้เมื่อไม่มีการเหยียบเบรก ลูกสูบก็จะไม่ถอยกลับเข้าไปอยู่ในเสื้อของคาลิเปอร์

ความสกปรกที่มีที่พื้นผิวของลูกสูบที่โผล่ยื่นออกมา ถ้ามีมากก็จะทำให้ลูกสูบค้าง ผ้าเบรกจึงสัมผัสกับจานเบรกอยู่ตลอดเวลา ผ้าเบรกจึงสึกหรอเร็ว การคืนตัวของผ้าเบรกหลังจากปล่อยแป้นเบรกเป็นอิสระจะเกิดแรงเหวี่ยงของจานเบรก ผลักให้ผ้าเบรกถอยกลับเพื่อไม่ให้จานเบรกสัมผัสกับผ้าเบรก

ถ้าความสกปรกมีมากที่ลูกสูบเบรก แรงเหวี่ยงที่เกิดขึ้นที่จานเบรกในขณะที่ล้อหมุนอยู่นั้น ไม่สามารถที่จะทำให้ลูกสูบถอยตัวตามผ้าเบรกได้ การสึกหรอของผ้าเบรกก็เกิดขึ้นมาก จานเบรกก็จะร้อนมาก ถ้ามากกว่านั้นก็จะเกิดอาการที่เรียกว่าเบรกค้าง (ไม่คืนตัว) ผ้าเบรกจะหมดเร็ว และสึกไม่เท่ากัน จึงเบรกจะไม่ค่อยอยู่ เพราะจานเบรกสะสมความร้อนไว้ตลอดเวลา การแก้ไขก็ไม่ยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายมากนัก หลังจากเปลี่ยนชุดผ้าเบรกที่สึกตามสภาพใช้งานไปแล้วสองครั้ง ควรจะให้ช่างชำนาญงานถอดชุดคาลิเปอร์ทั้งสี่ล้อออกมาล้างทำความสะอาด ก็จะแก้ปัญหาไปได้อีกนาน

ในบางรุ่นที่ล้อหลังยังใช้เบรกแบบดรัมเบรกอยู่นั้น ควรจะได้มีการทำความสะอาดและปรับตั้งทุกๆ หมื่นกิโลเมตร ก็จะตัดปัญหาเรื่องเบรก ปัดเบรก เบรกต่ำ เบรกไม่อยู่ เบรกแตก ไปได้อย่างเด็ดขาด

ผ้าเบรกและจานเบรก แม่ปั๊มเบรกดี ปั๊มล้อหรือคาลิเปอร์ดี หม้อลมเบรกดี ถ้าผ้าเบรกไม่ดี จานเบรกไม่ดี ประสิทธิภาพของเบรกก็จะลดน้อยลงจนเกิดอันตรายกับผู้ควบคุมรถได้ ผ้าดิสก์เบรก (Brake Pads) ทำด้วยวัสดุหลายอย่างเช่นคาร์บอน ทำเป็นแผ่นอัดแน่นอยู่บนแผ่นเหล็กชิ้นเล็กๆ มีหน้าที่จับยึดจานเบรกไม่ให้หมุนตามที่ปั๊มล้อ (Wheel Calipers) สั่งงาน ผ้าเบรกหรือผ้าดิสก์เบรกที่มีขายกันในท้องตลาดนั้นมีหลายราคา หลายชนิด บางแบบ บางยี่ห้ออวดอ้างสรรพคุณว่ามีความนิ่มนวลในการเบรก ลดเสียงดังจับแน่นกับจานเบรกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ บางแบบมักจะอวดอ้างว่ามีความทนทาน ทนความร้อนได้สูง ไม่มีคราบหรือฝุ่นผงสีดำจับอยู่ตามขอบกระทะล้อในขณะใช้งาน

ผ้าเบรกเพียงอย่างเดียวคงบอกไม่ได้ว่าจะทำให้ระบบเบรกมีประสิทธิภาพดีเด่นเพียงไร เพราะผ้าเบรกต้องคู่กับจานเบรก อย่างไรก็ตามการเลือกที่จะซื้อผ้าเบรกมาเปลี่ยนแทนของเก่านั้น ควรจะเลือกซื้อจากยี่ห้อที่เคยได้ยินหรือเป็นที่แพร่หลายในตลาด อย่าซื้อหาเพราะมีราคาถูกเพียงอย่างเดียว

เมื่อมีการเปลี่ยนผ้าเบรกจากการสึกหรอตามสภาพใช้งาน ควรพิจารณาดูว่าการสึกหรอที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการสึกหรอที่ปกติ (สึกอย่างราบเรียบและสม่ำเสมอกันทุกชิ้น) หรือมีการสึกหรอที่ผิดปกติ(เช่น สึกไม่เท่ากัน แผ่นในสึกมากกว่าแผ่นนอกหรือสึกแต่ด้านล่าง) ถ้าตรวจดูแล้วพบว่าผ้าเบรกสึกแบบผิดปกติ จะต้องให้ช่างที่มีความชำนาญค้นหาสาเหตุและทำการแก้ไข..

ในการใช้งานปกติ จะพบว่าจานเบรกมีการสึกหรอแบบเป็นเส้นๆ ที่เรียกว่าเป็นเส้นผมอยู่เต็มหน้าของจานเบรกทั้งสองหน้า ถือว่าเป็นการสึกหรอแบบปกติที่จะเกิดขึ้นกับรถทุกคัน ไม่จำเป็นและไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะไปแก้ไขตามที่มักจะแนะนำกันมาผิดๆ ให้ไป เจียรจานเบรก ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดผลดีใดๆ ขึ้นมา เพราะอีกไม่กี่วันก็จะกลับมาเป็นอีก

การสึกหรอของจานเบรกอีกชนิดหนึ่งที่พบเห็นกันทุกคันหลังจากผ่านการใช้งานมาระยะหนึ่งคือการสึกหรอแบบเป็นคลื่นที่สามารถจะสัมผัสได้เช่นกันด้วยปลายนิ้ว ถ้าหากเกิดขึ้นกับจานเบรกที่ไม่เคยถูกนำไปเจียรจานมาก่อน ก็ต้องเปลี่ยนจานเบรก

การสึกหรอของจานเบรกอีกแบบหนึ่ง คือการสึกหรอตามปกติที่ทำให้เกิดความรำคาญคือเบรกแล้วเสียงดัง การสึกหรอแบบนี้สามารถมองเห็นอย่างชัดเจน คือ การสึกอย่างสม่ำเสมอลึกลงไปในเนื้อของจานเบรก สิ่งที่บ่งบอกได้ชัดเจนก็คือจะเห็นเป็นขอบสูงขึ้นมาทั้งขอบนอกและขอบใน ขอบหรือสันนี้จะมีความหนาประมาณสองถึงสามมิลลิเมตร สาเหตุที่เห็นเป็นขอบสันนูนขึ้นมาก็เพราะผ้าเบรกที่สัมผัสหรือจับหรือเกาะกับจานเบรกเมื่อระบบเบรกทำงานนั้น ความกว้างของผ้าเบรกจะไม่กว้างเต็มความกว้างของจานเบรก เมื่อวางผ้าเบรกลงไปบนจานเบรกจึงเหลือขอบนอกและขอบในที่เป็นจานเบรกข้างละประมาณสองถึงสามมิลลิเมตร ความลึก (ความสูง) ของขอบที่เหลือนี้จะมากขึ้นตามการสึกหรอจากการใช้งาน (จานเบรกสึก)

เมื่อเราต้องการชะลอรถโดยการแตะเบรก ผ้าเบรก (ทั้งดิสก์และก้ามเบรก) จะค่อยๆ ไปสัมผัสกับขอบของจานเบรกที่เป็นสันนูนนี้ก่อนจึงทำให้เกิดเสียงดัง ต่อเมื่อกดแป้นเบรกให้หนักขึ้น ผ้าเบรกก็จะไปสัมผัสกับจานเบรกได้เต็มหน้าของความกว้างของผ้าเบรก เสียงดังจึงเงียบหายไป

ทางแก้ไขคือการถอดจานเบรกออกมาแล้วเอาไปลบหรือเจียรเฉพาะขอบหรือสันที่นูนขึ้นมา เสียงดังจากการเหยียบ (แตะ) เบรกก็จะหายไป และการลบขอบนี้ควรจะทำทั้งสี่จานหน้าหลังซ้ายขวา แม้แต่เบรกหลังในรถที่เป็นแบบดรัมเบรกก็เช่นกัน


teentoa.com ขอขอบคุณ
บทความโดย นายประโยชน์
เรียบเรียง ตีนโต ดอทคอม


 

article [last update 00-00-07]


 
Copyright @ 2005 / Web Designed by : teentoa / Since : 24 April 2006
All Right Reserved, Contact us : webmaster@teentoa.com นายตีนโต 08949-09005