article [last update 20-02-07] อ่าน

เรื่องของเบรก (ตอน 5)

การสึกหรอของจานเบรกอีกชนิดหนึ่งที่พบเห็นกันทุกคัน หลังจากผ่านการใช้งานมาระยะหนึ่ง คือการสึกหรอแบบเป็นคลื่น ที่สามารถจะสัมผัสได้เช่นกันด้วยปลายนิ้ว ถ้าหากเกิดขึ้นกับจานเบรกที่ไม่เคยถูกนำไปเจียรจานมาก่อน ก็ต้องเปลี่ยนจานเบรก

การสึกหรอของจานเบรกอีกแบบหนึ่งคือการสึกหรอตามปกติที่ทำให้เกิดความรำคาญคือเบรกแล้วเสียงดัง การสึกหรอแบบนี้สามารถมองเห็นอย่างชัดเจนคือการสึกอย่างสม่ำเสมอ ลึกลงไปในเนื้อของจานเบรก สิ่งที่บ่งบอกได้ชัดเจนก็คือจะเห็นเป็นขอบสูงขึ้นมาทั้งขอบนอกและขอบใน ขอบหรือสันนี้จะมีความหนาประมาณสองถึงสามมิลลิเมตร สาเหตุที่เห็นเป็นขอบสันนูนขึ้นมาก็เพราะผ้าเบรกที่สัมผัสหรือจับหรือเกาะกับจานเบรกเมื่อระบบเบรกทำงานนั้นความกว้างของผ้าเบรกจะไม่กว้างเต็มความกว้างของจานเบรก เมื่อวางผ้าเบรกลงไปบนจานเบรกจึงเหลือขอบนอกและขอบในที่เป็นจานเบรกข้างละประมาณสองถึงสามมิลลิเมตร ความลึก (ความสูง) ของขอบที่เหลือนี้จะมากขึ้นตามการสึกหรอจากการใช้งาน (จานเบรกสึก)

เมื่อเราต้องการชะลอรถโดยการแตะเบรก ผ้าเบรก (ทั้งดิสก์และก้ามเบรก) จะค่อยๆ ไปสัมผัสกับขอบของจานเบรกที่เป็นสันนูนนี้ก่อนจึงทำให้เกิดเสียงดัง ต่อเมื่อกดแป้นเบรกให้หนักขึ้น ผ้าเบรกก็จะไปสัมผัสกับจานเบรกได้เต็มหน้าของความกว้างของผ้าเบรกเสียงดังจึงเงียบหายไป

ทางแก้ไขคือ การถอดจานเบรกออกมาแล้วเอาไปลบหรือเจียรเฉพาะขอบหรือสันที่นูนขึ้นมา เสียงดังจากการเหยียบ (แตะ) เบรกก็จะหายไป และการลบขอบนี้ควรจะทำทั้งสี่จานหน้าหลังซ้ายขวาแม้แต่เบรกหลังในรถที่เป็นแบบ ดรัมเบรกก็เช่นกัน

องค์ประกอบสำคัญในระบบเบรก อีกอย่างคือ น้ำมันเบรก ก็เหมือนกับน้ำมันหล่อลื่นทั่วไป ที่จะต้องมีหน่วยงาน หรือองค์กรคอยตรวจสอบ ประเมินคุณภาพอยู่ตลอดเวลา องค์กรที่ได้รับความเชื่อถือในการควบคุม ตรวจสอบคุณภาพอยู่ตลอดเวลาก็คือ Department of Transportation ของสหรัฐอเมริกา หรือที่เรารู้จักกันสั้นๆ ง่ายๆ ว่า DOT

DOT จะควบคุมคุณภาพ และให้การรับรองน้ำมันเบรก โดยแบ่งเป็นเกรดต่างๆ กัน เช่นเดียวกับ SAE ที่แบ่งเกรดให้กับน้ำมันเครื่องตามความข้นใส แต่กับน้ำมันเบรก DOT จะแบ่งเกรดให้กับน้ำมันเบรกตามความต่อต้านความร้อนให้ถึงอุณหภูมิของจุดเดือดได้มากน้อยกว่ากัน

การแบ่งเกรดคุณภาพของน้ำมันเบรกของ DOT นี้ก็ตามการพัฒนาของยานยนต์ทุกชนิดที่ใช้น้ำมันเบรก เราจะเห็นกันข้างกระป๋องของน้ำมันเบรกในปัจจุบัน เช่น DOT3 DOT4 DOT5 DOT5 PLUS ตัวเลขที่ตามหลัง หน่วยงานก็คือ ตัวเลขที่ต้านทานอุณหภูมิความร้อน หรือ จุดเดือดได้สูงกว่ากัน ตัวเลขยิ่งมาก ยิ่งทนความร้อน หรือ ต้านทานความร้อนได้มาก

ถ้าความต้านทาน หรือ การต่อต้านไม่เพียงพอ น้ำมันเบรกก็จะเดือด ก็เหมือนน้ำ เหมือนของเหลวทั่วไปครับ เมื่อเดือดก็จะมีไอน้ำมากเข้าก็จะสะสมกลายเป็นหยดน้ำ และถ้าเกิดความร้อนซ้ำซาก หยดน้ำก็จะกลายเป็นไอน้ำ ซึ่งก็ทำให้แรงดันของน้ำมันเบรกขาดตอนกลายเป็นเบรกต่ำ เบรกหาย เบรกหยุ่นตัว เหมือนกับไล่ลมเบรกไม่หมด

น้ำมันเบรก เป็นตัวดูดความชื้น เป็นตัวทำลายสีรถ การเก็บไว้ต้องปิดฝาให้แน่น น้ำมันเบรกไม่ควรที่จะมีติดรถไว้ เพราะอันตรายต่อสี และเก็บไว้นาน ความชื้นก็จะสะสมอยู่ในน้ำมัน ใช้แล้วถ้าเหลือติดกระป๋อง ก็ทิ้งให้ถูกที่ถูกทาง และถ้าไม่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดแล้ว น้ำมันเบรกที่ใช้แล้วไม่ควรนำกลับมาใช้อีก ไม่ว่าจะเป็นส่วนน้อย หรือส่วนมาก

ที่กระป๋องน้ำมันเบรกในรถยนต์ จะมีระดับวัดปริมาณน้ำมันเบรกเอาไว้ ขีดสูง (Max) และขีดต่ำ (Min) ระดับน้ำมันเบรกที่ยุบหายลงไปจากขีด Max บ่งบอกถึงสาเหตุสองประการ คือ การสึกของผ้าเบรก หรือการรั่วซึม เมื่อน้ำมันเบรกยุบต่ำลง ก็หมายถึงผ้าเบรกสึกหรอลงไป เป็นความประมาทอย่างยิ่ง ถ้าน้ำมันเบรกยุบไป แล้วนำน้ำมันเบรกมาเติมให้อยู่ในขีดสูงสุด เมื่อใดก็ตามที่พบว่าน้ำมันเบรกยุบลงไป ต้องรีบตรวจสอบหาสาเหตุ

 


teentoa.com ขอขอบคุณ
บทความโดย นายประโยชน์
เรียบเรียง ตีนโต ดอทคอม


 


article [last update 20-02-07]


 
Copyright @ 2005 / Web Designed by : teentoa / Since : 24 April 2006
All Right Reserved, Contact us : webmaster@teentoa.com นายตีนโต 08949-09005