article [last update 26-02-07] อ่าน

กว่าจะเลือกตัวลุยได้สักคัน

แม้ว่ากระแสความนิยมของรถขับเคลื่อน 4 ล้อ ในทุกวันนี้ จะไม่ฮอตฮิตอย่างสุดๆ เหมือนช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังถือได้ว่าเป็นรถยนต์ที่มีผู้นิยมใช้มากกว่ารถเก๋งสเตชั่น แวกอน และรถสปอร์ตคูเป้รวมกันด้วยซ้ำไป เอาเป็นว่าอย่างไร ณ วันนี้ ก็คงไม่มีวันที่รถในประเภทนี้จะสูญหายไปจากตลาดรถยนต์ในเมืองไทย เพราะหากนับค่ายผู้ผลิตรถยนต์แล้ว ดูเหมือนจะหาค่ายที่ไม่ได้ทำรถขับเคลื่อน 4 ล้อทั้งออฟโรดพันธุ์แท้ และซอฟท์ ออฟโรด หรือที่เดี๋ยวนี้ชอบเรียกว่ารถแบบ “ครอสส์โอเวอร์” ออกสู่ตลาดได้ยากเย็นเหลือเกิน เท่าที่นึกออกก็คงมีประเภทเฟอร์รารี่ หรือ แอสตัน มาร์ติน อะไรทำนองนั้นไปเลย

สำหรับคุณอีกหลายคนที่ปะเหมาะมีโอกาสได้เป็นเจ้าของรถคันใหม่ แถมยังเจาะจงไว้กว้างๆ แล้วว่างานนี้ขอเป็นขับสี่ แต่จะเป็นทรงตรวจการณ์หรือกระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ เครื่องยนต์ดีเซลทั้งอเนกประสงค์ ทั้งประหยัด ก็คงต้องเป็นการบ้านให้คิดกันอีกหลายวัน

อย่าเพิ่งกลุ้มใจ และไม่ต้องรีบร้อนครับ…
หยิบปากกาขึ้นมาสักด้าม กระดาษสักแผ่น แล้วค่อยคิดไปพร้อมกันครับ อันดับแรกเขียนวงเงินตัวเลขที่คุณมีอยู่ในแบงก์มาก่อนเลยครับ ถ้าเกิน 4-5 แสนบาท ก็ค่อยมาคิดกันว่าจะดาวน์รถใหม่ป้ายแดง หรือเลือกรถมือสองแล้วมีเงินเหลือแต่งรถ เหลือไปเที่ยวกันดี ถ้าเลือกรถป้ายแดง หายห่วงครับ มีให้เลือกเต็มตลาดแล้วแต่คุณชอบครับ โดยเฉพาะกระบะดับเบิ้ลแค็ป หรือเอสยูวี อย่างอีซูซุ มิว 7, โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ แต่หากเป็นออฟโรดตรวจการณ์พันธุ์หรู ที่ในวันนี้หาราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาทได้ยาก งบประมาณประมาณนี้ ต้องรบกวนให้คุณเปลี่ยนใจไปดูที่กลุ่มรถมือสอง น่าจะเป็นการลดโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นผู้ประสบภัยทางการเงินในอนาคตอย่างได้ผลเลยทีเดียว

แต่หากสนใจรถมือสอง คราวนี้มาดูกันต่อครับว่างบประมาณร่วมครึ่งล้านของคุณ ทำอะไรได้บ้าง
หากยังฝังใจกับมาดเท่ของคาวบอยในไร่ปศุสัตว์ แม้ว่าคุณจะทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในเมืองก็ตาม ผสมกับต้องการรถยนต์ที่ประหยัดน้ำมัน ทนสุดๆ ทั้งทำงานทั้งเที่ยวคันเดียวกัน แถมยังต้องช่วยแม่ยายบรรทุกของได้บ้างเป็นบางครั้ง โอกาสเช่นนี้ไม่ควรพลาด กระบะดับเบิ้ลแค็ป 4x4 สักคัน

ดูเหมือนจะจบเรื่องแต่เรื่องยังไม่จบครับ เพราะเครื่องยนต์ดีเซลทุกวันนี้ก็มีให้เลือกหลากยี่ห้อหลายเทคโนโลยี หากถามว่าจะเลือกแบบไหนดี ก็เอาเป็นคำตอบง่ายๆ ว่าถ้าชีวิตไม่รีบร้อนนัก เดือนหนึ่งออกต่างจังหวัดสักครั้ง ใช้ความเร็วส่วนใหญ่เฉลี่ยราว 120 กม./ชม. ดูแลรักษาง่ายๆ มีความรู้เชิงช่างบ้าง กะว่าทำเองได้ในบางจุด งานนี้เครื่องยนต์ไดเร็คอินเจ็คชั่นธรรมดา เป็นคำตอบสุดท้ายๆ แต่มีข้อแม้ขึ้นมาว่าอยากได้อัตราเร่งแบบจี๊ดจ๊าดหน่อย คราวนี้ดีเซลคอมมอนเรลเป็นตัวเลือกที่สองครับ พร้อมกับราคาค่าตัวที่พุ่งขึ้นมาอีกหลายสตางค์

ในอีกตัวเลือก หากคุณไม่ต้องการบรรทุกอะไรให้มันหนักหนานัก เพราะนานๆ จะมีสักครั้งจ้างรถขนของเอาครั้งละไม่กี่บาทจะง่ายกว่า แถมยังต้องมีภาระรับ-ส่งลูกไปโรงเรียน แวะรับผู้บัญชาการสูงปี๊ดกลับบ้านด้วย กลางวันก็ต้องขับรถไปติดต่องานตลอด กระบะโฟร์วีลล์ดูเหมือนจะตัดกับภาพพจน์ของเนกไท และเสื้อเชิ้ตกลีบคม

งานนี้รถตรวจการณ์ที่มีพื้นฐานจากกระบะ น่าจะเข้าทีมากกว่า แถมยังมีเกียร์อัตโนมัติให้เลือกอีกต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นสุดฮอตฮิตอย่างโตโยต้า สปอร์ตไรเดอร์, อีซูซุ เวก้า (คันนี้หายากหน่อย เพราะเจ้าของเดิมไม่ค่อยมีใครยอมปล่อย), มิตซูบิชิ จี-แวกอน (คันนี้ผมว่าหน้าตารูปทรงเข้าท่า), ไทยรุ่ง และฟอร์ด เอเวอร์เรสต์ แน่นอนว่า ราคาของรถเหล่านี้ก็จะว่ากันตามความนิยม แม้ว่าจะเป็นรถปีเดียวกัน สภาพใกล้เคียงกัน อุปกรณ์ในรถเหมือนๆ กัน แต่ราคาห่างกันร่วมแสนก็ไม่ใช่เรื่องแปลกนะครับ

สำหรับรถยนต์ในกลุ่มนี้ ผมเห็นว่าสมรรถนะนั้นใกล้เคียงกันอยู่แล้ว ก็ต้องอยู่ที่ความชอบละครับ ส่วนราคาเมื่อต้องมาเป็นรถมือสองแล้ว จะขายต่อเป็นรถมือสาม แต่ละยี่ห้อก็คงไม่แตกต่างกันมากแล้วละครับ

แต่หากเน้นออฟโรดพันธุ์แท้สุดเท่ ในงบประมาณที่คุณตั้งไว้ก็ยังมีตัวเลือกอีกเพียบครับ ไม่ว่าจะเป็น จี๊ป เชโรกี ทั้ง 2.5 และ 4.0, แกรนด์ เชโรกี, แลนด์ โรเวอร์ ดิสคัฟเวอรี่ เอ็มพีไอ และ วี 8 , มิตซูบิชิ ปาเจโร่ ฯลฯ ทั้งหมดราคาออกตัวเกินกว่า 1.5 ล้าน จนถึง 2 ล้านกว่าบาททั้งสิ้น แต่เมื่อเป็นรถมือสองราคาตกรูดลงแบบเจ้าของเดิมต้องร้องไห้ ดีไม่ดีราคาต่ำกว่ากระบะโฟร์วีลล์ ในปีเดียวกันด้วยซ้ำไปครับ

สาเหตุหลักๆ ที่เจ้าของเก่าต้องจำใจขายรถเหล่านี้ทั้งน้ำตา ก็เพราะทำใจสู้กับอัตราการบริโภคน้ำมันไม่ไหว ส่วนมากที่ราคาตกรูดกันมาก็ล้วนแล้วแต่ใช้น้ำมันเบนซินกันทั้งสิ้น ดังนั้นความต่างของราคาน้ำมันในช่วงออกตัวลิตรละ 11 บาท กับปัจจุบันลิตรละ 30 บาท บนอัตราความสิ้นเปลืองระดับ 4-5 กม./ลิตร สำหรับการใช้งานในเมือง จึงกลายเป็นตัวเร่งให้บรรดารถเหล่านี้ต้องเรียงหน้ากันปรากฏโฉมกันในหน้าโฆษณารถมือสองกันให้เลือกแทบไม่หวาดไม่ไหว ขณะที่เต็นท์รถหลายแห่งถึงกับบอกว่าไม่รับรถเหล่านี้ เพราะต้องจอดรอเนื้อคู่กันนาน ดอกเบี้ยกินบาน กำไรหด ประเภทว่าหากมีใครมาต่อราคาเท่าไรต้องรีบขายกันที ขาดทุนก็ต้องยอม เพราะขืนทิ้งไว้ดอกเบี้ยยิ่งบาน แล้วไม่รู้ว่าจะมีใครหลงมาต่อราคาอีก

อีกปัจจัยที่ทำให้ราคาของรถเหล่านี้ตกรูดมากกว่าล้านบาทก็คือราคาอะไหล่ อย่าลืมนะครับว่าราคาออกตัวของรถเหล่านี้เฉลี่ยกันที่ 1.5 ล้านบาท ขณะรถในกลุ่มนี้ที่เป็นป้ายแดง ณ วันนี้ ราคาปาเข้าไปร่วม 3 ล้านบาทกันเป็นส่วนใหญ่ ราคาอะไหล่จึงเทียบกันไม่ได้กับตัวลุยที่พื้นฐานจากกระบะ และใช้อะไหล่ส่วนมากร่วมกันได้

เคยได้ยินไหมครับว่าราคาอะไหล่ประเภท ท่อยางหม้อน้ำตัวบน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทครับ ไม่ได้ใส่เลขศูนย์ผิด) ยางแท่นเครื่อง 4,700 บาท ลูกรอกพลาสติก 2,500 บาท กรองอากาศ 900 กว่าบาท ผ้าเบรกหน้าเกือบ 5,000 บาท และอื่นๆ อีกมากที่คุณฟังแล้วอยากย้อนกลับมาถามว่าแล้วรถพวกนี้มันยังจะน่าสนได้อย่างไร

ทุกอย่างมีทางออกครับ และอย่าแปลกใจหากเห็นตัวลุยระดับหรูหลายๆ คัน เข้าไปเติมแก๊สแอลพีจี ในอู่เดียวกับแท็กซี่ เพราะการลงทุนติดตั้งระบบการจ่ายเชื้อเพลิงด้วยแก๊สแอลพีจี ในต้นทุนหมื่นปลายๆ สำหรับระบบมิกเซอร์ จนถึงห้าหมื่นกว่าบาทสำหรับระบบหัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์ซีเควนเชียล ที่ให้สมรรถนะแทบไม่แตกต่างกับน้ำมันเบนซิน โดยไม่มีผลเสียอะไรกับเครื่องยนต์ ยกเว้นเพียงแต่ว่าคุณอาจใช้รถยนต์มากขึ้นเพราะหมดปัญหากับค่าน้ำมันเชื้อเพลิงไปแล้ว

ส่วนราคาอะไหล่ หลายคนยังว่าเป็นเรื่องน่าหนักใจ เพราะรถมือสองย่อมต้องมีการตรวจเช็คซ่อมแซมกันอีกครั้ง ขืนซื้ออะไหล่ในราคานี้มีหวังต้องกลายเป็นรถมือสามในเดือนสองเดือนนี้แน่ แต่ราคาที่ยกมาให้เห็นนั้น เป็นราคาในศูนย์บริการครับ อย่าลืมว่าศูนย์บริการย่อมต้องมีต้นทุนสูงกว่าอู่ทั่วไปข้างนอก

อะไหล่ทั้งหลายนั้น ผู้ผลิตรถยนต์ก็มิได้ทำการตั้งโรงงานผลิตเอง แต่เป็นการสั่งให้ซัพพลายเออร์เป็นผู้ผลิตส่งให้ แล้วจึงทำการประกอบเข้าด้วยกัน

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะมีอะไหล่บางส่วนติดตรายี่ห้อของซัพพลายเออร์เองไหลออกสู่ร้านขายอะไหล่ เช่นเดียวกับบางครั้งการออกแบบรถยนต์แต่ละคันนั้น ก็มิได้ออกแบบส่วนประกอบต่างๆ ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพราะหากเป็นเช่นนั้นย่อมหมายถึงต้นทุนการผลิตที่พุ่งขึ้นอีกหลายเท่าตัว หน้าที่หนึ่งของทีมวิศวกรผู้ออกแบบก็คือ พิจารณานำชิ้นส่วนที่มีอยู่ในรายการมาเลือกใช้ หรือเรามักชอบพูดกันว่าอะไหล่ชิ้นนี้ของรถรุ่นนี้ สามารถเอาไปใส่กับอีกรุ่นนั้นได้ แต่เรื่องแบบนี้ไม่มีใครบอกให้รู้กันง่ายๆ ครับ นอกจากช่างผู้อยู่กับรถรุ่นนั้นมานาน

เช่นกันกับความลับไม่มีในโลก การบอกกันปากต่อปากของกลุ่มผู้นิยมในตัวลุยแต่ละยี่ห้อที่จัดตั้งกันขึ้นมา จนมีครบทุกยี่ห้อแล้วนั้น ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งทำให้ได้ทราบถึงบรรดารายการอะไหล่ทดแทน ที่มีราคาต่ำลงมากจนตัวเหล่านี้กลายเป็นรถที่น่าใช้กันอีกครั้ง

เช่น ท่อยางหม้อน้ำตัวบน 2,000-10,000 บาท เหลือ 200-1,000 บาท ยางแท่นเครื่อง 4,700 บาท เหลือ 500 บาท ลูกรอกพลาสติก 2,500 บาท เหลือ 800 บาท (ผู้ผลิตอะไหล่ในประเทศทำออกจำหน่าย) กรองอากาศ 900 กว่าบาท เหลือ 240 บาท ผ้าเบรกหน้าเกือบ 5,000 บาท เหลือ 2,000 กว่าบาทจากผู้ผลิตผ้าเบรกชั้นนำ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายรายการในระดับหลักหมื่นบาท หากเสียต้องเข้าศูนย์บริการเปลี่ยนอย่างเดียว แต่ช่างข้างนอกสามารถแก้ไขซ่อมแซมให้กลับมาใช้ได้อีกครั้งในราคาราว 10-30 เปอร์เซ็นต์ของราคาอะไหล่ใหม่ (บางชิ้นผมเคยซ่อมในราคาไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของงบอะไหล่ใหม่ด้วยซ้ำไป) บางชิ้นก็อาจพึ่งพาอะไหล่มือสองจากเชียงกง ก็ประหยัดไปได้มาก

ส่วนมาตรฐานการซ่อมก็ไม่ต่างอะไรกับศูนย์บริการ เพราะทุกวันนี้มีอู่เฉพาะรถแต่ละยี่ห้อจนครบยี่ห้อแล้ว โดยมากเป็นการดำเนินงานโดยช่างจากศูนย์ที่ออกมาเปิดอู่เอง มีความชำนาญเฉพาะด้านในรถยี่ห้อนั้นๆ เป็นอย่างดี เพียงแต่สถานที่อาจดูไม่ดีเท่า ขณะที่ราคาอะไหล่และค่าแรงชั่วโมงงานซ่อมต่ำกว่ามากครับ

อย่าเพิ่งคิดว่าแล้วจะไปทราบข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างไร เดี๋ยวนี้เป็นยุคของข้อมูลข่าวสารครับ ทุกกลุ่มทุกชมรมมีเวบไซต์ที่สามารถเข้าค้นหา และสมัครเป็นสมาชิกได้ มีเวลาลองเข้าไปดูครับ มีข้อมูลช่วยคุณตัดสินใจอีกมาก เท่านี้คุณก็สามารถใช้ตัวลุยอย่างประหยัดได้ครับ แถมยังมีเพื่อนไปเที่ยวอีกเพียบครับ


teentoa.com ขอขอบคุณ
บทความโดย ออลวีลไดร์ฟ
เรียบเรียง ตีนโต ดอทคอม


 

article [last update 26-02-07]


 
Copyright @ 2005 / Web Designed by : teentoa / Since : 24 April 2006
All Right Reserved, Contact us : webmaster@teentoa.com นายตีนโต 08949-09005