article [last update 09-03-07] อ่าน

เรื่องของเบรก (ตอน 6)

เมื่อใดที่คุณเปิดล็อกรถของคุณไม่ว่าจะด้วยรีโมต หรือลูกกุญแจแล้ว ระบบเบรก ซึ่งถูกควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์จะถูกปลุกให้เตรียมพร้อมที่จะทำงาน โดยที่คุณไม่ต้องแตะแป้นเบรกด้วยเท้าของคุณ

และเมื่อใดก็ตามที่คุณประจำที่นั่งขับ ทันทีที่คุณดึงสายเข็มขัดนิรภัยมาคาดไว้กับตัวคุณ ระบบเบรกจะถูกตรวจสอบด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในรถ ว่ารถของคุณพร้อมที่จะถูกใช้งานด้วยระบบเบรกอัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพ เมื่อคุณขับขี่อยู่บนท้องถนน ทันทีที่คุณละเท้าจากแป้นคันเร่ง ระบบเบรกก็เริ่มที่จะทำงานแทนคุณ หรือเมื่อใดก็ตามที่คุณขับรถบนถนนที่เปียกชื้น ฝนตก แน่นอนที่ปัดน้ำฝนทำงานโดยอัตโนมัติ และเช่นกัน เมื่อปัดน้ำฝนทำงาน ทัศนวิสัยในการขับขี่ไม่เต็มร้อยอย่างที่เคย ระบบเบรกจะตรวจสอบสภาพผิวถนนด้วยตัวมันเอง เมื่อพื้นผิวถนนไม่เป็นใจ ระบบเบรกก็จะทำงานด้วยตัวมันเองก่อนที่คุณจะทันคิด

ดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อ หรืออาจจะคิดว่าเป็นเพียงรถยนต์ในจินตนาการ แต่มันเกิดขึ้นแล้วจริงๆ กับระบบเบรกอัตโนมัติ (Sensotronic Brake Control) และออกวิ่งอยู่บนถนนทั่วโลกหลายหมื่นคัน

รถยนต์ที่ใช้ระบบเบรกแบบอัตโนมัตินั้น จะไม่ใช้หม้อลมเบรกอีกต่อไปแล้ว ก็หมายความว่าระบบเบรกในปัจจุบัน (บางยี่ห้อ) และในอนาคต ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเครื่องยนต์แบบสันดาปภายใน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเบนซิน หรือดีเซล ระบบเบรกอัตโนมัติ (Sensotronic Brake Control) จะใช้เพียงน้ำมันเบรก และระบบไฟฟ้า (แน่นอนครับ แรงเหยียบเบรกก็ยังต้องใช้อยู่)

Sensotronic Brake Control หรือเบรกอัตโนมัติ ยังคงมีแม่ปั๊มเบรกอยู่ รูปร่างคล้ายกับแม่ปั๊มแบบเดิม แต่เพิ่มรายละเอียดทางไฟฟ้าเข้าไปเพื่อที่จะใช้คำนวณการเคลื่อนที่ของลูกสูบที่จะไปดันน้ำมันแป้นเบรกก็ยังคงเป็นแบบเดิม เพิ่มเติมรายละเอียดเข้าไป เช่น สวิตช์ไฟเบรก เพื่อส่งสัญญาณไปศูนย์ควบคุม (ECU)

เช่น ความเร็วจากการที่เท้าละจากแป้นคันเร่งมายังแป้นเบรก เป็นระยะเวลาเท่าไร ศูนย์ควบคุมจะสั่งการไปยังปั๊มแรงดันน้ำมันเบรกในการสั่งจ่ายแรงดันไปยังจุดที่ต้องการ จากแม่ปั๊มเบรกที่มีสายส่งน้ำมันไปยังปั๊มน้ำมันเบรกโดยเฉพาะปั๊มน้ำมันเบรก เป็นแบบลูกสูบเดียว (ในปัจจุบัน) ทำงานด้วยระบบไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ปั๊มนี้สามารถสร้างแรงดันได้ 160 บาร์ หรือมีอัตราการไหล (แรงส่งน้ำมันเบรก) ประมาณ 6 ซีซีต่อวินาที การที่ต้องมีแรงดันและอัตราการไหลที่คงที่อยู่ตลอดเวลา แม้ในขณะปิดสวิตช์กุญแจ จึงต้องมีถังพักแรงดันเพื่อจ่ายน้ำมันเบรกไปยังจุดที่ต้องการ ซึ่งถังพักแรงดัน (Gas diaphragm reservoir) จะทำหน้าที่คล้ายหม้อลมในระบบเบรกแบบเดิม โดยมีก๊าซไนโตรเจนทำหน้าที่รักษาแรงดันเอาไว้กับแผ่นไดอาแฟรม ถังพักแรงดันน้ำมันนี้ ถูกสร้างให้มีอายุการใช้งานได้ไม่ต่ำกว่า 10 ปี (ราคาประมาณหนึ่งแสนบาท) และการคำนวณการรักษาแรงดันจากคุณสมบัติของก๊าซไนโตรเจน ซึ่งจะมีการรั่วซึมอยู่ที่อัตรา 1 บาร์ต่อปี ซึ่งพอเพียงต่อการที่จะใช้งานได้ถึง 10 ปี

ที่ว่าเป็นการเบรกโดยอัตโนมัตินั้น จะเกิดจากการคาดคำนวณใน ECU ที่รับสัญญาณมาจากหน่วยตรวจจับมากมายหลายที่ เช่น ที่ปัดน้ำฝน แป้นเบรก แป้นคันเร่ง ตัววัดความเร็วของล้อ ระบบไฟเตือนที่แผงหน้าปัด ฯลฯ

เมื่อคุณขับผ่านถนนเปียกแฉะ หรือลุยน้ำ ผ้าเบรก (Brake Pads) ที่ล้อทั้ง 4 จะถูกสั่งจาก ECU ให้เคลื่อนตัวออกมาสัมผัส (เลียเบรก) กับจานเบรกด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยให้คุณไม่ต้องกังวลเรื่องที่จะต้องเลียเบรก และเมื่อการเลียเบรกด้วยตนเองจนอุณหภูมิของจานเบรกร้อน ผ้าเบรกก็จะถูกสั่งให้ถอยกลับด้วยตนเอง

ครับ เป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับบ้านเรา เอามาบอกเล่ากันคร่าวๆ ถือว่ารู้ไว้ใช่ว่า แม้ว่าจะมีใช้ในปัจจุบันเพียงบางยี่ห้อในบ้านเราก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ อ่านมาแล้ว ถ้าจะมีคำถามก็คงจะเป็นคำถามที่ว่า ถ้าระบบไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับเบรกเสีย จะขับต่อได้ไหม ขับได้ครับ แต่ขับได้แบบเดียวกับรถที่ไม่มีหม้อลมเบรก และเบรกจะทำงานเพียงสองล้อหน้าเท่านั้น (ติดตามต่อในตอนที่ 7 ครับ)

 


teentoa.com ขอขอบคุณ
บทความโดย นายประโยชน์
เรียบเรียง ตีนโต ดอทคอม


article [last update 09-03-07]


 
Copyright @ 2005 / Web Designed by : teentoa / Since : 24 April 2006
All Right Reserved, Contact us : webmaster@teentoa.com นายตีนโต 08949-09005