article [last update 10-08-07] อ่าน

ระบบบังคับเลี้ยว

ระบบพวงมาลัยหรือระบบบังคับเลี้ยว สำหรับรถยนต์ในบ้านเราก็จะมีด้วยกัน 2 แบบ คือ แบบ ลูกปืนหมุนวน หรือเรียกกันว่าแบบกระปุก ซึ่งก็มีใช้กันทั้งแบบธรรมดาและแบบมีเพาเวอร์ ช่วยผ่อนแรงพวงมาลัย แบบนี้เป็นแบบที่ใช้ได้ทนทาน ดูแลบำรุงรักษาง่าย ปัจจุบันก็หลงเหลืออยู่แต่ในรถบรรทุกและรถกระบะบางยี่ห้อเท่านั้น ก็คงจะสูญพันธุ์ไปในระยะเวลาอันใกล้นี้

อีกแบบหนึ่งเป็นแบบที่เรียกว่า แร็คแอนด์พิเนียน (Rack&pinion) หรือเรียกแบบไทยๆ ได้ว่าแบบเฟืองสะพาน ทั้ง 2 ระบบแทบจะเรียกได้ว่ามีส่วนประกอบที่แตกต่างโดยสิ้นเชิง พวงมาลัยในแบบแร็คแอนด์พิเนียนนี้ มีขนาดกะทัดรัด ใช้เนื้อที่ในการติดตั้งในห้องเครื่องน้อย มีชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องน้อยกว่าแบบแรก และมีให้ใช้ทั้งแบบธรรมดาที่ไม่มีให้เห็นกันแล้วและเพาเวอร์ผ่อนแรง ซึ่งตัวช่วยในการผ่อนแรงหรือเพาเวอร์นั้น ในปัจจุบันก็มีด้วยกัน 3 แบบ คือแบบใช้น้ำมันอย่างเดียว หรือเรียกว่าแบบไฮดรอลิก (Hydraulic power steering) ต่อมาก็เป็นแบบไฮดรอลิกร่วมกับไฟฟ้า (Electro-hydraulic power steering) และสุดท้ายที่ทันสมัยหรือแบบล่าสุด เป็นแบบมอเตอร์ไฟฟ้า (Electric power steering EPS)

ในรุ่นที่ติดตั้งระบบไฮดรอลิก จะประกอบไปด้วย ปั๊มสร้างแรงดัน (Vane pump) ที่ทำงานร่วมกับเครื่องยนต์ โดยมีสายพานเป็นตัวต่อเชื่อมกำลังเครื่องยนต์ มีท่อน้ำมันพาน้ำมันแรงดันสูง (High pressure hose) ที่ได้รับการสั่งการจากการหมุนพวงมาลัยหรือในกรณีนี้ การหมุนพวงมาลัยก็คือการเปิดหรือปิดวาล์วน้ำมันให้น้ำมันเข้าไปบังคับให้ชุดแร็คแอนด์พิเนียนซึ่งเป็นเพียงกระบอกยาวแท่งหนึ่งภายในมีแกนเหล็กที่เรียกว่าแกนแร็คเป็นตัวรับและส่งทิศทางการเคลื่อนที่ (หมุน) ของล้อจากการบังคับที่พวงมาลัย

ภายในกระบอกและแกนแร็คนี้ จะประกอบไปด้วยชิ้นส่วนที่เป็นยาง (ซีลกันน้ำมัน) แหวน (พลาสติกหรือเทปรอน) ช่วยกักแรงดันน้ำมันเอาไว้ เมื่อใช้งานไประยะหนึ่ง ซีลยางและแหวนกักแรงดันก็จะสึกหรอตามสภาพ

โดยทั่วๆ ไปแล้ว ในรถยนต์บางยี่ห้อก็จะมีชุดซ่อมซึ่งประกอบด้วยซีลยางและเทปรอน และชิ้นส่วนเล็กน้อยบรรจุในถุงพลาสติกขายกันเป็นชุด ราคาก็เพียงแค่หลักพันต้นๆ เพียงแต่ช่างที่จะทำงานชิ้นนี้ จะต้องผ่านการฝึกอบรมถึงเคล็ดลับในการถอดและประกอบเพียงเล็กน้อยก็สามารถที่จะใช้งานได้เหมือนเดิม อย่างไรก็ตามยังมีค่ายผู้ผลิตหลายยี่ห้อที่ไม่มีชุดซ่อมจำหน่าย เมื่อน้ำมันเพาเวอร์รั่วหรือที่ช่างเรียกกันว่าแร็ครั่ว ก็จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแร็คกันทั้งชุด รา คาก็เริ่มต้นกันที่หลักหมื่นจนถึงริมๆ แสน

ในแบบต่อมาที่เป็นแบบน้ำมันและไฟฟ้า (Electro-hydraulic) ก็จะใช้ตัวมอเตอร์มาทำหน้าที่แทนปั๊มเพาเวอร์ โดยที่มอเตอร์นี้จะสร้างแรงดันให้น้ำมันแทนปั๊มตัวเดิม ส่วนตัวแกนแร็คก็จะยังคงรูปแบบและส่วนประกอบเดิมๆ ข้อดีของพวงมาลัยในแบบนี้ก็คือ ตัวมอเตอร์จะถูกนำไปติดตั้งตรงส่วนใดของรถยนต์ก็ได้ที่สะดวกในการเดินสายไฟและท่อน้ำมัน ไม่จำกัดที่จะต้องติดตั้งอยู่หน้าเครื่องและเมื่อตัดตัวปั๊มน้ำมันแบบเดิม ภาระในการดูแลรักษาในการปรับตั้งสายพานหรือเปลี่ยนสายพานก็หมดไป

แต่ก็ยังมีข้อเสียคือยังต้องใช้น้ำมัน ยังต้องใช้ท่อทางเดินน้ำมันเหมือนกับแบบเดิม การดูแลรักษาจำเป็นที่จะต้องตรวจดูระดับน้ำมัน ดูการรั่วซึมที่แร็ค และดูการทำงานของมอเตอร์ ดูเหมือนว่าระบบพวงมาลัยหรือระบบบังคับเลี้ยวแบบนี้ จะไม่เป็นที่นิยมมากนัก เพราะยังมีข้อยุ่งยากในการดูแลบำรุงรักษา ทั้งระบบน้ำมัน ระบบไฟฟ้าและระบบกลไก มีรถยนต์หลายรุ่นในบ้านเราที่ใช้ระบบนี้ แต่พอมีการปรับเปลี่ยนโฉมก็จะถูกยกเลิกไป โดยหันไปใช้ระบบล่าสุดคือระบบไฟฟ้า เต็มระบบ ในระบบน้ำมันร่วมกับไฟฟ้านี้เช่นกัน ถ้าเสียก็ต้องยกชุดเปลี่ยน

พวงมาลัยไฟฟ้าในแบบ EPS (Electric power steering) ได้ถูกนำมาติดตั้งกับรถเก๋งรุ่นใหม่ๆ ในรถยนต์ขนาดเล็ก และในไม่ช้าก็คงจะติดตั้งกับรถยนต์ทุกประเภท พวงมาลัยแบบ EPS นี้ ตัดส่วนประกอบที่รกรุงรังในห้องเครื่องออกไปจนหมด ปั๊มเพาเวอร์ สายพาน ท่อน้ำมัน มอเตอร์ไฟฟ้ารวมทั้งกระป๋องน้ำมัน จากวงพวงมาลัยที่ก่อนนี้ใช้ทำหน้าที่เป็นวาล์วเปิดปิดน้ำมัน เปลี่ยนมาเป็นตัวควบคุมกระแสไฟฟ้า (จากการทำงานของเครื่องยนต์) ไปยังมอเตอร์ไฟฟ้าที่อยู่ร่วมกับชุดแร็คพวงมาลัย เมื่อพวงมาลัยขยับหรือหมุนกระแสไฟฟ้า ก็จะไปสั่งงานให้มอเตอร์นั้นทำงานเกิดแรงบิดไปหมุนกลไกให้ชุดแร็คทำงาน

EPS จึงเป็นระบบบังคับเลี้ยวที่ไม่ต้องดูแลบำรุงรักษา การซ่อมแร็คก็นับว่าลืมกันไปได้เลย เพราะไม่มีน้ำมันไฮดรอลิกเข้าไปสร้างแรงดันที่จะต้องใช้ซีลกันรั่ว เพียงแต่ดูแลรักษาระบบไฟฟ้าแบตเตอรี่ และอัลเตอร์เนเตอร์ (ไดชาร์จ) ตามปกติเท่านั้นเอง

ครับ ช่วงระยะเวลานี้และต่อไปในอนาคต นวัตกรรมของยานยนต์จะต้องพึ่งระบบไฟฟ้าเข้าไปมากทุกที อย่างเช่นรถไฮบริด รถฟิวเซลล์ เป็นผลพวงจากความก้าวหน้าของระบบไฟฟ้า การเลือกที่จะใช้รถในปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้ถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ในรถยนต์ อย่างน้อยก็ทำให้เราเลือกได้ว่า จะใช้รถแบบใดจึงจะประหยัดค่าซ่อมบำรุงรักษาตลอดระยะเวลาที่เราใช้มันอยู่

 


teentoa.com ขอขอบคุณ
บทความโดย นายประโยชน์
เรียบเรียง ตีนโต ดอทคอม


article [last update 10-08-07]


 
Copyright @ 2005 / Web Designed by : teentoa / Since : 24 April 2006
All Right Reserved, Contact us : webmaster@teentoa.com นายตีนโต 08949-09005