article [last update 11-09-07] อ่าน

บัญญัติ 5 ประการในการเลือกซื้อรถ

รถยนต์คันหนึ่งๆ ในปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่รถที่มีราคาต่ำสุดไปจนแพงที่สุด มักจะอวดอ้างกันถึงเรื่องความเร็วความแรง มีอุปกรณ์เพื่อความสะดวกสบายในการใช้งาน มากกว่าที่จะพูดถึงอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยกันอย่างจริงจัง

มาเริ่มตั้งโจทย์กันใหม่ดีไหม โดยหยิบเอาเรื่องความปลอดภัยที่จะใช้มาเป็นอันดับแรก ถึงแม้ไม่ได้ทั้งหมด เพราะขึ้นอยู่ภาวะทางเศรษฐกิจของแต่ละคน แต่ถ้ารู้จักที่จะเลือกเราก็อาจจะได้รถยนต์สักคันที่ให้ความปลอดภัยกับเราในยามใช้สอยได้อย่างอุ่นใจ โจทย์ที่จะตั้งไว้เริ่มกันที่

1. ขนาดรูปร่างและรูปทรงของรถ ไม่ต้องไปสนใจว่ารุ่นนั้นยี่ห้อนั้นดีกว่า มีการติดตามผลของการใช้รถจากหน่วยงาน IIHS (The Insurance Institute for Highway Safety) เปิดเผยผลสำรวจออกมาว่า รถยนต์ที่มีขนาดสูงที่หมายความว่ามีจุดศูนย์ถ่วงของรถสูง โอกาสที่จะเกิดการพลิกคว่ำมีมากกว่ารถที่ต่ำๆ หรือมีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำกว่า เช่น รถประเภท SUV เป็นรถทรงสูง มีจุดศูนย์ถ่วงสูง อัตราส่วนที่เกิดการพลิกคว่ำของรถประเภทนี้มีถึง 62% ของรถประเภทนี้ทั้งหมด และในรถกระบะมีอัตราส่วนการพลิกคว่ำรองลงมาคือ 45% ของรถกระบะทั้งหมด ส่วนรถเก๋งนั่งไม่ว่าจะเป็นขนาดจิ๋วเล็ก กลางหรือใหญ่ มีอัตราส่วนในการพลิกคว่ำเพียง 23% ของรถเก๋งทั้งหมด

ครับ เป็นผลการติดตามของหน่วยงานจากเมืองนอก ถ้าเราจะเอามาวิเคราะห์และถามตัวเราเองว่าเรามีความต้องการจะใช้รถอะไรอย่างจริงจัง ไม่ใช่ต้องการเพราะเป็นเทรนด์ เป็นกระแส เราก็น่าจะปลอดภัยมากขึ้น

2. หาข้อมูลเรื่องการทดสอบการชน
แม้จะเป็นเรื่องยากในบ้านเราที่จะหาข้อมูลด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นจากภาครัฐหรือจากผู้ผลิตในบ้านเราที่ไม่อยากจะเปิดเผยสู่สาธารณชน แต่ทุกค่ายผลิตรถยนต์ในบ้านเรา มักจะอวดอ้างสรรพคุณว่าผลิตรถยนต์ขายให้คนไทยใช้ด้วยมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก เราก็เอาคำอวดอ้างนั้นตั้งเป็นโจทย์ เข้าไปดูรายงานการทดสอบการชนจากเวบไซต์ที่เชื่อถือได้เช่น www.safercar.gov, www.hwysafety.org., หรือ www.consumerreports.org หน่วยงานเหล่านี้จะมีผลการทดสอบจากการชนครอบคลุมพอที่จะบอกได้ว่ารถในรูปแบบในยี่ห้อที่เราจะเลือกซื้อนั้น ให้ความปลอดภัยกับเราแค่ไหนอย่างไร

3. ตัวที่ทำให้เกิดความมั่นใจในการขับ
เป็นหน้าที่โดยตรงของผู้ใช้รถหรือผู้ขับรถที่จะต้องรักษาความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารที่นั่งมาในรถ ผู้ร่วมทางและผู้ที่สัญจรไปมาอยู่บนถนน การเลือกรถที่ได้รับการออกแบบที่ดีตั้งแต่เบาะนั่ง พนักพิงศีรษะ เป็นการลดทอนความเครียด ความเหนื่อยล้าจากการนั่งขับ อุปกรณ์ที่จะใช้ในการขับ เช่น มาตรวัด ปุ่มสวิตช์ ที่ไม่ใช่เพื่อความเพลิดเพลิน จะต้องสะดวกสบาย ง่ายในการบังคับควบคุม ทัศนวิสัยในการขับกว้างไกล ทั้งด้านหน้า ด้านหลัง ด้านข้างซ้ายขวา ผู้ขับจะต้องมีความมั่นใจว่าจะไม่เป็นอุปสรรคในการขับไม่ว่าในเวลากลางวัน มืดค่ำ ฝนตก หมอกจัด อัตราเร่งแซงต้องมีให้พอใช้อย่างเพียงพอในการหลบหลีกเร่งแซง ไม่ใช่มีหรือเลือกเอาไว้เพื่อประชันขันแข่งในเรื่องของความเร็ว ถ้าเราเลือกรถที่ทำให้เรามีความมั่นใจในการขับ ความปลอดภัยก็จะอยู่ข้างเรา

4. ตัวช่วยเพื่อความปลอดภัย
เทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้มีตัวช่วยมากมายที่จะทำให้เราปลอดภัยมากขึ้นทั้งในเชิงหลบหลีก หลีกเลี่ยงและป้องกัน เลือกดูในสิ่งที่เราพอจะรับได้ และต้องเลือกให้เป็น เลือกได้แล้วต้องศึกษาทำความเข้าใจถึงวิธีการใช้งาน เพื่อที่ตัวช่วยเหล่านั้นจะช่วยเราได้ในยามที่เราต้องการ

ระบบเบรก ABS (Anti Brake Locking System) เป็นตัวช่วยอันดับหนึ่งที่ควรเลือกที่จะมีไว้ เพราะเป็นระบบที่พิสูจน์มาแล้วว่าช่วยผู้ขับรถในยามคับขันได้อย่างคุ้มค่า ESC (Electronic stability control) ระบบควบคุมเสถียรภาพหรือการทรงตัวของรถ เป็นอีกระบบหนึ่งที่ควรจะเลือกติดรถเอาไว้ ระบบนี้ในแต่ละยี่ห้ออาจจะมีชื่อเรียกต่างกันไป เป็นระบบที่จะช่วยให้รถสามารถที่จะทำให้คุณสามารถควบคุมรถได้เมื่อรถเสียการทรงตัวจากการเข้าโค้งบนถนนลื่น ระบบนี้จะช่วยลดความเร็วของรถ บังคับเบรกให้ทำงานอัตโนมัติที่ล้อใดล้อหนึ่งหรือมากกว่า ในอเมริกาจะมีการกำหนดให้ระบบ ESC เป็นอุปกรณ์มาตรฐานติดรถจากโรงงานทุกคันในปี 2012 เป็นต้นไป

ถุงลมนิรภัยและเข็มขัดนิรภัย SRS Supplemental Restrain System ถุงลมนิรภัยและเข็มขัดนิรภัย กลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานประจำรถในบ้านเราไปแล้ว แต่ถุงลมนิรภัยก็มีหลายแบบหลายชนิดให้เลือก เช่น ในที่นั่งผู้ขับบางแบบจะไม่มีการทำงานเมื่อไม่มีคนนั่งประจำที่ขับ หรือบางแบบจะทำงานก็ต่อเมื่อมีน้ำหนัก ขนาดของส่วนสูงที่อยู่ในข้อกำหนดจึงจะทำงาน และก็รวมถึงที่นั่งผู้โดยสารด้วย ม่านนิรภัยหรือถุงลมด้านข้าง ก็เป็นสิ่งที่ช่วยปกป้องเมื่อเกิดการชนด้านข้างในระดับหนึ่ง เช่นเดียวกับเข็มขัดนิรภัยต้องรู้ว่าปัจจุบันมีด้วยกัน 2 แบบหลักๆ คือ แบบรั้งกลับโดยอัตโนมัติและแบบจำกัดแรงรั้งกลับ ต้องเลือกหรือศึกษาก่อนใช้ เพราะทั้ง 2 แบบให้ประโยชน์ในการคุ้มครองป้องกันที่ต่างกัน และหมอนพิงศีรษะ Head restrains ต้องดูถึงการออกแบบที่พอเหมาะพอดีกับผู้ขับ ที่จะสามารถปกป้องกระดูกต้นคอของผู้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5. ความปลอดภัยสำหรับเด็ก
ถ้าพูดว่าเราเลือกรถโดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับท้ายๆ ของหัวข้ออื่น ความปลอดภัยสำหรับเด็กๆ ที่จะโดยสารไปด้วยนั้น ดูเหมือนว่าจะยิ่งมีน้อยหรือแทบจะไม่เคยอยู่ในรายการที่จะถูกเลือก และในบ้านเราถ้ายอมรับความจริงแล้วมีค่ายรถไม่กี่ยี่ห้อที่เอาใจใส่ในเรื่องของความปลอดภัยสำหรับเด็ก เริ่มตั้งแต่เบาะนั่งสำหรับเด็ก ต้องดูด้วยว่ารถที่เราจะเลือกใช้นั้นมีสถานที่หรืออุปกรณ์ที่จะรองรับเบาะนั่ง นอน สำหรับเด็กที่เราจะใส่เพิ่มเติมเข้าไปด้วยไหม ถุงลมนิรภัยมีตัวเลือกให้ทำงานหรือไม่ เมื่อเด็กนั่งอยู่ที่เบาะนั่งโดยสารด้านหน้า กระจกขึ้นลงไฟฟ้ามีที่ควบคุมไม่ให้เด็กเปิดปิดโดยลำพังหรือไม่ รวมทั้งการปิดประตูจากภายในเมื่อเด็กนั่งอยู่ตามลำพัง

ครับ ถ้าเรารู้จักที่จะเลือกมีรถที่ดี ใช้งานได้อย่างปลอดภัย ก็ต้องวางความสวยหรือของแจกของแถมไว้ที่อันดับท้ายๆ แม้ว่าเราจะต้องจ่ายเพิ่มมากขึ้น แต่ก็น่าจะคุ้มค่าสำหรับการที่จะมีรถไว้ใช้สักคันหนึ่ง

 


teentoa.com ขอขอบคุณ
บทความโดย นายประโยชน์
เรียบเรียง ตีนโต ดอทคอม


article [last update 11-09-07]


 
Copyright @ 2005 / Web Designed by : teentoa / Since : 24 April 2006
All Right Reserved, Contact us : webmaster@teentoa.com นายตีนโต 08949-09005